18 กุมภาพันธ์ 2566 ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) จังหวัดฉะเชิงเทรา รายงาน การดูแลสุขภาพลูกช้างป่าพลัดหลงจากโขลง “น้องตุลา” โดยสัตวแพทย์และพี่เลี้ยง ได้นำน้องตุลา เดินออกกำลังกาย เพื่อยืดกล้ามเนื้อ และลดความเครียด ปรับสภาพร่างกายและจิตใจของเจ้าตุลา จากการย้ายที่อยู่ใหม่ ปัจจุบันมีทิศทางที่ดี ตุลาสามารถปรับสภาพร่างกายได้ดีขึ้น
โดยทิศทางการดูแลเจ้าตุลา ของศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) จะยังคงจัดเจ้าหน้าที่ผู้มีประสบการณ์พร้อมกับพี่เลี้ยงที่คุ้นเคยสับเปลี่ยนเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมฝึกและปรับพฤติกรรมให้มีความคุ้นชินกับป่าธรรมชาติมากขึ้น
ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ไม่มีนโยบายเปิดให้เยี่ยมชม เพื่อไม่ให้ลูกช้างป่าเกิดความเครียดและเพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อ เพราะจัดว่าเจ้าตุลาเป็นลูกช้างเล็ก ภูมิคุ้มกันที่มีก็มีเพียงน้อยนิด อีกทั้งผลการตรวจโรคไวรัสเฮอร์ปีส์ของ “ตุลา” ล่าสุด ยังคงมีการแฝงตัวของเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกาย โดยสัตวแพทย์ได้เสริมวิตามินซีให้กินเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมทั้งให้ยาต้านไวรัส และจะทำการเก็บตัวอย่างส่งตรวจโรคไวรัสทางห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังอาการต่อไป
“ตุลา” ลูกช้างป่าพลัดหลง ที่ทหารพรานนาวิกโยธิน บริเวณฐานฯ ทุ่งกร่าง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว พบเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ขณะนั้นมีอายุ 1 – 2 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ร่วมกันตั้งชื่อลูกช้างป่าตัวนี้ว่า “เจ้าตุลา” ตามเดือนที่พบเจอ ขณะที่พบลูกช้างมีอาการค่อนข้างอ่อนแรง สัตวแพทย์ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และได้รับการสนับสนุนน้ำนมช้างจากแม่ช้าง 4 เชือกที่เพิ่งตกลูก จากสวนนงนุชพัทยา มาให้ลูกช้างได้กิน จึงทำให้ตุลาแข็งแรง มีสุขภาพดี และเป็นช้างอารมณ์ดี ขี้เล่น จนเป็นขวัญใจพี่ๆ ทุกคน
ข้อมูล /คลิป :ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) จังหวัดฉะเชิงเทรา
Post Views: 3,894