บริษัททัวร์ชั้นนำ ร่วมเปิดเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยพ่อขุนผาเมือง ดึงคนมาเที่ยวงานอุ้มพระดำน้ำ

เพชรบูรณ์ จังหวัดที่หลายคนคุ้นเคยกันดีกับสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง รวมทั้งเป็นจังหวัดใหญ่อันดับ 9 ของประเทศ มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งแนวธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเข้าสู่พื้นที่ให้มากขึ้น จังหวัดเพชรบูรณ์โดย สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเพชรบูรณ์ และสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตามรอยพ่อขุนผาเมือง ภายใต้โครงการจัดงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำประจำปี 2567ขึ้น

นายวีระ ธูปทอง ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (..2566 – 2580) ประเด็นการท่องเที่ยว มีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น ทันต่อกระแสของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทางจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล โดยกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดเพชรบูรณ์ (.. 2566-2570) ประเด็นการพัฒนาที่ 2 “ส่งเสริม และพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่ม” โดยได้จัดทำโครงการ กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตามรอยพ่อขุนผาเมือง ภายใต้โครงการจัดงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำประจำปี 2567 เพื่อเป็นการสร้างสรรค์กิจกรรมการท่องเที่ยว เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ มีโอกาสเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ เกิดการสร้างอาชีพและรายได้แก่ประชาชน สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกหมู่เหล่า เกิดจิตสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง โดยได้ร่วมกับสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์นำผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว สื่อมวลชน ระดับประเทศ จำนวน 40 คน มาสำรวจเส้นทางท่องเที่ยว รวมทั้งร่วมพูดคุย วางแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเเละโปรโมทให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในจังหวัดเพชรบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ด้านนางสาวรรณิภา เด่นโรจน์มณี นายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า เป้าหมายในการจัดกิจกรรมเพื่อมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้มาสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2567 ที่จะมีการจัดงานในระหว่างวันที่ 27 กันยายน-6 ตุลาคม 2567ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยพ่อขุนผาเมืองและศรีเทพเมืองมรดกโลก เพื่อให้ผู้ประกอบการวางแผนนำนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงการจัดงานอุ้มพระดำน้ำ ซึ่งในโอกาสนี้มีคุณไพรัตน์ ห่านศรีสุข อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA)เป็นผู้นำคณะ โดยมีโปรแกรมวันแรกเมื่อเดินทางเช้าสู่จังหวัดเพชรบูรณ์ ทางท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมผู้แทนส่วนราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ให้การต้อนรับและแวะเที่ยวชม มรดกโลก เมืองโบราณศรีเทพ อำเภอศรีเทพ เมืองโบราณขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญมากที่สุดเมืองหนึ่งในวัฒนธรรมทวารวดี เป็นเมืองที่มีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย มีอายุราว 1,700 ปีมาแล้ว โดยมีอาสาสมัครท่องเที่ยวและกีฬา (อสทก.) ที่ทางกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาได้จัดอบรมให้ความรู้ทำหน้าที่เป็นไกด์เล่าเรื่องราวของเมืองศรีเทพให้กับคณะได้รับฟัง เสร็จแล้วเดินทางไปชมกำแพงประตูศิลปะขอมแล้วกราบขอพร หลวงพ่อดำที่วัดโพธิ์ทองในชุมชนบ้านนาตะกรุด อำเภอศรีเทพ ซึ่งหลวงพ่อดำหรือพระครูปลัดสุขเกษม สุเขโม เจ้าอาวาสท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติธรรม ได้ศึกษาวิชาอาคมและวิชากรรมฐานจากพระเกจิอาจารย์หลายรูปจนมีชื่อเสียงโด่งดังด้านการขอพรและประสบความสำเร็จและการสะเดาะเคราะห์ ตรวจดวงชะตา หรือเสริมดวงชะตาซึ่งในแต่ละวันก็จะมีศิษยานุศิษย์และผู้เคารพเลื่อมใสศรัทธาเดินทางกราบขอพรทั้งชาวไทยรวมถึงชาวต่างประเทศจากประเทศมาเลเซีย สิงค์โปร์ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีหลวงพ่อหินเขียวที่มีความสวยงาม แม้การก่อสร้างจะยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์แต่มองดูช่างงดงามมาก ๆ ส่วนวัตถุมงคลก็มีให้ญาติโยมทั้งหลายนำไปบูชาได้ เช่น เหรียญหลวงพ่อดำ  ขุนแผนหลวงพ่อดำ แหวนพญาครุฑ และหลวงพ่อหิน เป็นต้น มื้อเที่ยงแวะทานไก่ย่างวิเชียรบุรีแล้วเดินทางไปที่พุเตยสปา ผ่อนคลายโดยหมอนวดมืออาชีพคอยให้บริการ ซึ่งมีบริการทั้งนวดกระชับผิว นวดฝ่าเท้า นวดประคบสมุนไพร นวดน้ำมันหอม นวดแผนไทย สปาหน้า สครับผิว สครับหน้าและปิดท้ายด้วยอาบน้ำแร่แช่น้ำพุร้อนในอ่างจากุซซี่ ที่สะอาดและทันสมัย

ในช่วงค่ำเดินทางสู่ ถนนคนเดินไทหล่ม พร้อมเยี่ยมชมและศึกษาประวัติ ชุมชน วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ณ พิพิธภัณฑ์หล่มศักดิ์ 1 ใน 8 แหล่งท่องเที่ยวต้องไป ในแคมเปญเที่ยวเพชรบูรณ์ 678 ก่อนเดินเที่ยวชมถนนคนเดินไทหล่ม ถนนสายเก่าแก่ของอำเภอหล่มสัก ซึ่งตลอดสองฟากฝั่งถนนยังคงความคลาสสิกของบ้านเรือนไม้โบราณ 2 ชั้นไว้ให้เห็นอย่างงามตา สีสันความคึกคักของถนนคนเดินไทหล่มจะเริ่มต้นทุกเย็นวันเสาร์ตั้งแต่ 5 โมงเย็นไปจนถึง 4 ทุ่ม เพลิดเพลินไปกับการออกร้านต่างๆ ทั้งร้านจำหน่ายอาหารพื้นเมืองที่หารับประทานยาก สินค้าพื้นเมือง เสื้อผ้า เครื่องประดับ สินค้าทำมือของชาวบ้านที่สามารถซื้อเป็นของฝากของที่ระลึก นอกจากนี้ยังมีการแสดงทางวัฒนธรรม ซุ้มสาธิตการตีมีดโบราณ จากกลุ่มตีมีดบ้านใหม่ที่สืบทอดช่างฝีมือมานานนับ 100 ปี จากช่างชาวเวียงจันทน์ การแสดงดนตรีพื้นเมือง ก่อนปิดท้ายด้วยการรับประทานอาหารเย็น ที่ร้านลาบเป็ดหล่มสัก 1 ใน 7 เมนูอาหารต้องชิม จากแคมเปญ เที่ยวเพชรบูรณ์ 678

วันที่สองของการ“ตามรอยพ่อขุนผาเมือง”เป็นการเดินทางไปยังแหล่งกำเนิดของ “พ่อขุนผาเมือง” วีรกษัตริย์นอกประวัติศาสตร์ เรื่องราวของท่านถูกจารึกไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาว่าท่านเป็นนักรบที่ยอมเสียสละให้เพื่อนร่วมรบอย่าง “พ่อขุนบางกลางท่าว” หรือ “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” ที่ร่วมรบกับอาณาจักรขอมจนได้รับชัยชนะ ก่อนที่จะประกาศสร้างกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของสยามหรือประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งคณะได้เดินทางไปท่องเที่ยวชุมชนบ้านห้วยโปร่ง ตำบลบ้านหวาย อำเภอหล่มสัก เข้าชมอนุสรณ์สถานเมืองราดพ่อขุนผาเมือง เจดีย์พ่อขุนผาเมือง เจดีย์เก่าแก่ศิลปะสมัยสุโขทัยที่สร้างไว้เป็นอนุสรณ์แก่พ่อขุนผาเมือง และบริเวณใกล้กันมีต้นจำปาพันปี หรือต้นลีลาวดีที่เชื่อกันว่าปลูกบูชาพระธาตุเจดีย์ เมื่อ พ..1765 มีลำต้นขนาดใหญ่และอายุมากที่สุดในประเทศไทย ไหว้ขอพรหลวงพ่อตากแดด วัดโพนชัย ที่ตั้งของเจดีย์พระนางสิงขรมหาเทวี พระมเหสีของพ่อขุนผาเมืองที่ได้รับพระราชทานจากกษัตริย์ขอม พร้อมชมข้าวสารดำ เมล็ดข้าวสีดำสนิท ความเชื่อเรื่องนี้เกิดจากหลังพ่อขุนผาเมืองยึดสุโขทัยคืนจากขอม พระนางสิงขรมหาเทวีเกิดความไม่พอใจจึงจุดไฟเผาบ้านเผาเมือง คลังเสบียง ยุ้งฉางต่างๆไฟไหม้หมดจนกลายเป็นข้าวสารดำที่เห็นในปัจจุบัน พร้อมกันนี้ได้เยี่ยมชมกลุ่มทอผ้าไทหล่มบ้านหวาย ซึ่งนอกจากจะมีซิ่นหัวแดงตีนก่าน เป็นผ้าประจำท้องถิ่นอำเภอหล่มสักแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากผ้าทอ ได้แก่ กระเป๋า เสื้อ กางเกง พวงกุญแจ ปกสมุด ย่ามและอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ผลิตจากภูมิปัญญาท้องถิ่นอันโดดเด่นของชาวไทหล่มซึ่งอีกหนึ่งความงดงามคือผ้าแพรไส้ปลาไหลที่คนโบราณได้ต้นแบบลวดลายนี้มาจากการผ่าทองปลาไหล  แล้วมองเห็นเส้นสายลายสีของก้างปลาและเนื้อใน จึงรังสรรค์ออกมาเป็นผ้าแพรไส้ปลาไหลอันสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ที่เป็นของฝากของที่ระลึกที่จะสร้างความประทับใจให้กับผู้รับเป็นอย่างดี จากนั้นแวะทานข้าวมื้อเที่ยงที่ภัตตาคารเมืองหล่ม ภัตตาคารอาหารจีน ไทย ร้านเก่าแก่ของเมืองหล่มสัก อาหารมีหลากหลายเมนู ทานข้าวเสร็จแล้วเดินทางสักการะอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง และพิพิธภัณฑ์ “พ่อขุนผาเมือง” ที่จัดไว้เพื่อแสดงพระราชประวัติและวีรกรรมของพ่อขุนผาเมือง ตั้งอยู่ที่บริเวณสี่แยกพ่อขุน จุดตัดทางหลวงหมายเลข /12 (พิษณุโลกชุมแพ) กับทางหลวงหมายเลย 21 (สระบุรีหล่มสัก) อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสรยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง เพื่อเป็นศูนย์รวมพลังจิตใจของชาวเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ..2527

เดินทางสู่ เมืองเพชรบูรณ์ ระหว่างทาง แวะ ดื่ม กาแฟที่ร้าน La Borne point – ลา บล็อง พ้อยท์ สะดุดตากับทุ่งดอกไม้ ดีไซน์อาคาร และชิงช้าสวรรค์แน่นอนอ่ะ ตัวคาเฟ่ดีไซน์สวยงาม แปลกตา เป็นลักษณะคล้ายใบไม้ 2 ใบวางซ้อนกัน มีแบล็คกราวน์เป็นแนวภูเขาทอดยาว คาเฟ่ให้บริการทั้งกาแฟ เครื่องดื่ม เบเกอรี่ และอาหารพร้อมเลย ทั้งสไตล์ไทยและยุโรป ก่อนจะจบทริปวันที่สองด้วยการกราบสักการะพระพุทธมหาธรรมราชา ณ พุทธอุทยานเพชบุระ ซึ่งเป็นพระพุทธมหาธรรมราชาจำลององค์ใหญ่ที่สุดในโลก พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่ชาวเพชรบูรณ์ให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ ครบ 7 รอบ 84 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2554 และเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการสืบทอดพระพุทธศาสนาของประชาชนชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุที่ปลายยอดจุลมงกุฎและเบิกพระเนตรองค์พระพุทธมหาธรรมราชาเฉลิมพระเกียรติ ทั้งนี้ในช่วงรับประทานอาหารเย็น ทางสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ได้จัดให้มีการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวส่วนกลางกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่เพื่อต่อยอดด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนาคตต่อไป

ส่วนในวันที่สาม คณะเดินทางสู่ หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย และหอนิทรรศน์อุ้มพระดำน้ำ ไหว้ศาลหลักเมือง โดยใช้รถรางของเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ และประชุมแลกเปลี่ยน ความรู้เกี่ยวกับประเพณีอุ้มพระดำน้ำ กับ ดร.เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งจากการจัดกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ในอีกรูปแบบ สำหรับนักท่องเที่ยวที่หลงไหลในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี โดยคาดว่าในห้วงของการจัดงานอุ้มพระดำน้ำจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่ายสร้างรายได้ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดเพิ่มมากขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed