Skip to content
วันที่ 26 เมษายน 2567 ที่ห้องประชุมชั้น 3 องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ นายจิรวัฒน์ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในพิธีฯบันทึกข้อตกลงร่วมมือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบอาหารแปรรูปหรือสินค้าจากพืชเศรษฐกิจ(ผำ) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ บริษัทไร่สายชล 101 และวิสาหกิจชุมชนบ้านวังร่อง โดยมีนายอัครเดช ทองใจสด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ นายธีระวัฒน์ วิไลรัตน์ ประธานบริหารบริษัทไร่สายชล 101 และนายไพทูลย์ อินหา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านวังร่อง เป็นผู้ลงนามฯ นายณรงค์ศักดิ์ หอมมาลัย รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ ส.ต.ท.เสน่ห์ อินการทุม รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด รักษาราชการแทน ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมเป็นพยาน
นายธีระวัฒน์ วิไลรัตน์ ประธานบริหารบริษัทไร่สายชล 101 กล่าวว่า “ไข่น้ำ” หรือ “ผำ” นั้นมีความพิเศษที่น่าสนใจอย่างมาก ผำมีปริมาณโปรตีนสูง สามารถให้ผลผลิตโปรตีนสูงกว่าถั่วเหลืองเมื่อเทียบในพื้นที่การเพาะปลูกที่เท่ากันมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนและอุดมด้วยสารอาหารที่จำเป็นอีกมากมาย อาทิ เหล็ก แคลเซียม สังกะสี ช่วยเสริมกระดูก การไหลเวียนโลหิต และเพิ่มภูมิคุ้มกัน วิตามิน บี 12 ช่วยในการทำงานของระบบประสาท ซึ่งไม่พบในผลิตภัณฑ์จากพืชตามธรรมชาติชนิดอื่น วิตามิน เอ ลูทีน ซีอาแซนทิน ช่วยบำรุงสายตา วิตามิน บี–คอมเพล็กซ์ วิตามิน ซี วิตามิน อี วิตามิน เค โฟเลต ซีอาแซนทิน ลูทีน และสารต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ ในระดับสูงทั้งยังย่อยง่าย ไฟเบอร์สูง ดีต่อระบบการย่อยอาหาร รวมถึงมีแคลอรี่ แป้ง น้ำตาลและไขมันต่ำ เหมาะกับผู้ที่ต้องการคุมน้ำหนัก ยิ่งไปกว่านั้น ผำยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศได้เทียบเท่ากับป่าที่สมบูรณ์ในพื้นที่ ๆ เท่ากันอีกด้วย ทางบริษัทมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและผลักดันให้ผำเป็น “อาหารแห่งอนาคต” สามารถต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ และเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย ทั้งนี้วางเป้าหมายในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรภายใน 3 ปี จำนวนกว่า 2 แสนตัน ซึ่งจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท
ด้านนายอัครเดช ทองใจสด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงร่วมมือฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ(ผำ) ให้เป็นบริการสาธารณะสำหรับประชาชนภายใต้อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ตลอดจนสามารถขยายผลไปสู่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์หรืออาหารแปรรูปให้สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ ตามแนวคิดยุทธศาสตร์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ที่จะค้นหาพืชเศรษฐกิจใหม่ๆ สำหรับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดเพชรบูรณ์โดยนำผำ หรือที่เรียกว่า “กรีนคาเวียร์” ซึ่งเป็นพืชที่ให้โปรตีนสูง มีกรดอะนิโนที่จำเป็นหลายชนิด มีแคลเซียมและช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ จนทำให้ได้รับสมญานามว่าเป็นซูเปอร์ฟู้ด ไปทดลองแปรรูปและจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด โดยนำมาแปรรูปเป็นผำชนิดผง สามารถชงน้ำดื่ม และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อขยายผลออกไปสู่การตลาดเชิงธุรกิจได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการสร้างรายได้ และพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการที่จะส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงในวงบ่อ โดยถ้าเลี้ยง 5 วง/คนจะสามารถสร้างรายได้เพิ่ม 1,000 บาท/เดือน อีกทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ได้อีกด้วย ซึ่งในเบื้องต้นจะดำเนินการผ่านทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านวังร่อง ซึ่งมีผลงานในการผลิตเกษตรอินทรีย์เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ มีกลุ่มเป้าหมายในระยะแรก 300 ครัวเรือนและจะขยายผลต่อไปในอนาคต
Post Views: 8,299