จังหวัดเพชรบูรณ์จัดโครงการพาหมอไปหาประชาชนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
30 มีนาคม 2567 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลภูน้ำหยด ตำบลภูน้ำหยด อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการพาหมอไปหาประชาชนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายสืบพงษ์ นิ่มพูลสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายชนกมากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ แพทย์ พยาบาล อสม. เข้าร่วม
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ และภาพอนาคตระบบสาธารณสุขไทย ยกระดับระบบบริการสาธารณสุขที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายของรัฐบาล และความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในการรับบริการ ความแออัด และระยะเวลารอคอยการรักษา โดยเฉพาะโรงพยาบาลในเขตเมือง ตลอดจนโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และคุณภาพการบริการที่ประชาชนได้รับ ในปี พ.ศ. 2567 กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายขับเคลื่อน โครงการพาหมอไปหา ประชาชนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระ ชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร กล่าวต่อว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวมีการจัดบริการหน่วยแพทย์เฉพาะทาง และจิตอาสา ในพื้นที่ห่างไกลเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง และคัดกรองความเสี่ยงในโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ จัดกิจกรรมตาม Minimum Service Package 7 คลินิก ในวันหยุดราชการและ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ต่อเนื่องตลอดปี พ.ศ. 2567 ประกอบด้วย คลินิกคัดกรองมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี คลินิกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก คลินิกคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ลำไส้ตรง คลินิกคัดกรองมะเร็งเต้านม คลินิกตาในเด็กและผู้สูงอายุ คลินิกทันตกรรม คลินิกกระดูกและข้อ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการคัดกรองโรคของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร และพื้นที่ ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ซึ่งขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ให้สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม สะดวก ได้รับการค้นหา และรักษาโรคในระยะเริ่มต้นได้อย่างทันท่วงที ลดอัตราการป่วย และเสียชีวิตจากโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ทั้งของประชาชนและรัฐบาล