สุโขทัย-สช. เปิดเวทีสร้างสุขที่ปลายทาง เขตสุขภาพที่ 2 สร้างการรับรู้ในการวางแผนและเตรียมความพร้อมก่อนวาระสุดท้ายของชีวิต
สช. เปิดเวทีสร้างสุขที่ปลายทาง เขตสุขภาพที่ 2 สร้างการรับรู้ในการวางแผนและเตรียมความพร้อมก่อนวาระสุดท้ายของชีวิต ตามกฎหมาย
วันที่ 14 ธันวาคม 2566 ที่ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรมสุโขทัยเทรเซอร์ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้บรรยายถึง Living will:สิทธิด้านสุขภาพตามมาตรา 12 พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ในเวทีงานสร้างสุขที่ปลายทาง:วางแผนและเตรียมความพร้อมของชีวิตเพื่อสุขที่ปลายทางว่าความตาย นั้นเราเลือกไม่ได้ เพราะทุกชีวิตต้องตายอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง แต่ การตายเป็นสิ่งที่เรามีสิทธิจะเลือกได้และเราทุกคนควรจะเลือกว่าเมื่อวันนั้นมาถึงเราต้องการจากไปในสภาพอย่างไร การเตรียมตัวการตายดีสามารถทำได้ 2 วิธี คือการทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าได้ตั้งแต่ยังมีสุขภาพดีและมีสติสัมปชัญญะดีอยู่ ส่วนวิธีที่ 2 เป็นการเตรียมชีวิตให้พร้อมก่อนวันตายจะมาถึงด้วยความไม่ประมาท
เลขาธิการ สช.กล่าวเพิ่มเติมว่าปัจจุบันคนไทยสามารถมีสิทธิการตายดีตามข้อบัญญัติทางกฎหมายโดยสิทธิของผู้ป่วยตามกฎหมายและแนวป่ฏิบัติทางการแพทย์ในระดับสากล รับรองสิทธิของบุคคลในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขที่เป็นเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย ทั้งนี้ Living will เป็นองค์ประกอบหนึ่งของ Advance Care Planing และ Palliative care เป็นเครื่องมือสื่อสารผู้ป่วย ญาติและผู้ให้การรักษา ขณะที่ศาลปกครองสูงสุดได้รับรองสิทธิการตายตามธรรมชาติ สิทธิในการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ เป็นสารัตถะเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายที่บุคคลพึงมี ซึ่งการที่บุคคลแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขฯ มีผลทำให้แพทย์ต้องเคารพการตัดสินใจดังกล่าวสิ่งที่สำคัญกฎกระทรวงต้องไม่ใช่การปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยงดเว้นไม่ให้การรักษา หรือการใช้ยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อยุติชีวิตและการปฏิบัติตามกฏกระทรวงโดยไม่มีความผิดฐานทอดทิ้งผู้ป่วยตามประมวลกฏหมายอาญา เนื่องจากแพทย์ยังให้การดูแลแบบประคับประคองอยู่
เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช. และหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้ขับเคลื่อนเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาระบบ กลไก การบูรณาการร่วมกับนโยบายและแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ในระบบบริการสุขภาพ รวมถึงสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับสังคมไทย แต่ยังมีข้อท้าทายในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพการดูแลแบบประคับประคอง และการรับรู้ของประชาชนเรื่องการวางแผนเตรียมความพร้อมของชีวิตล่วงหน้า และการเลือกการรักษาพยาบาลที่ต้องการหรือไม่ต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิตตน ตามเจตนารมณ์มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550
ทั้งนี้เวทีสร้างสุขที่ปลายทาง:วางแผนและเตรียมความพร้อมของชีวิตเพื่อสุขที่ปลายทาง เขตสุขภาพที่ 2 มี พญ.ธัญญารัตน์ สิทธิวงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัยเป็นประธานเปิด นพ.พงษศักดิ์ ราชสมณะ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาการดูแลแบบประคับประคองจังหวัดสุโขทัย กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ว่าตามที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสนับสนุนเรื่องการดูแลแบบประคับประคองผ่าน service plan สาขาการดูแลแบบประดับประคอง(paliative core) โดยมีกรมการแพทย์เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการขับเคลื่อน service plan สาขานี้ ซึ่งปัจจุบันสามารถขยายงานไปยังเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนเพื่อส่งเสริมให้เข้าถึงสิทธิในการแสดงเจตนาในวาระสุดท้ายเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)จึงได้สนับสนุนให้เขตสุขภาพ เขตที่ 2 จัดเวทีสาธารณะเปิดพื้นที่ทางสังคมสร้างการรับรู้ให้ภาคประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเวทีสาธารณะสร้างการรับรู้ในเรื่องสิทธิด้านสุขภาพในระยะสุดท้ายของชีวิตและส่งเสริมการจัดทำหนังสือแสดงเจตนาฯ (living will) ตามมาตรา 12 พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ให้กลุ่มประชาชนที่เป็นผู้นำและผู้แทนในชุมชนให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจ มีทัศนคติที่ดีต่อการเตรียมตัวสำหรับวาระสุดท้ายชีวิตในทุกมิติสู่การตายดี และจัดกิจกรรมให้มีการจัดทำหนังสือแสดงเจตนาฯ (Iiving will) ส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้นำและผู้แทนในชุมชนสามารถนำความรู้ไปสื่อสารส่งต่อให้กับประชาชนในชุมชนให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจทัศนคติที่ดี และการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพในการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ วิชาการ เอกชนและประชาสังคม ร่วมกันจัดกิจกรรมสื่อสารสาธารณะ เรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต สร้างการรับรู้ให้ประชาชนในพื้นที่โดยมี กลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วยในชุมชน ได้แก่ อสม.ผู้นำชุมชน ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 2 เข้าร่วมงานทั้งในแบบออนไซต์และออนไลน์รวมกว่า 500 คน
โดยมีวิทยากรร่วมในการเสวนาเตรียมความพร้อมรับมือกับการตายดีในระยะสุดท้ายของชีวิต อาทิ นายพิศิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน ผู้ชำนาญการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นพ.โรจนศักดิ์ ทองคำเจริญ รองผู้อำนวยการ ด้านบริการปฐมภูมิ รพ.แม่สอด จ.ตาก ศ.ดร. นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทย์ศาสตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้อำนวยการเยือนเย็นวิสาหกิจเพื่อสังคม นายกล้าหาญ ฉาบฉวย น.ส.อนงค์ วิสุทธิรังสีอุไร อสม.อ.สวรรคโลกและพระมหาดวงอำนาจ สิริมงคล เจ้าอาวาสวัดสวรรคารามร่วมในการเสวนา
ท้ายสุด นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ สช.กล่าวสรุปว่าเรื่องการตายดี เป็นสิ่งสำคัญมากการจัดเวทีสาธารณะเปิดพื้นที่ทางสังคมให้ภาคประชาชนเกิดการรับรู้เรื่องสิทธิด้านสุขภาพในการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตฯ ตามมาตรา 12 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ครั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ และ ส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้นำและผู้แทนในชุมชน แก่ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 2 มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการสร้างสุขภาวะในระยะสุดท้ายของชีวิต และสามารถนำความรู้ไปสื่อสารส่งต่อให้กับประชาชนในชุมชนให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติที่ดี และการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพในการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตต่อไป
เครือข่ายสื่อ กขป.เขต 2#รายงาน