อุ้มพระดำน้ำ จังหวัดเพชรบูรณ์ ความเชื่อ ความศรัทธาสู่ความสุขทางใจจากพระคู่บ้านคู่เมือง พระพุทธมหาธรรมราชา
งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำของจังหวัดเพชรบูรณ์ ประเพณีเก่าแก่ของชาวเมืองเพชรบูรณ์ ว่ากันว่าประเพณีนี้ถูกสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมากว่า 400 ปี ถือเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลก ที่มีตำนานมหัศจรรย์…แห่งลำน้ำป่าสัก อันเป็นที่มาของ “พระพุทธมหาธรรมราชา” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ซึ่งปีนี้กำหนดจัดงานในวันที่ 10-19 ตุลาคม 2566 ณ หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย วัดไตรภูมิ วัดโบสถ์ชนะมารและพุทธอุทยานเพชบุระ โดยผู้เป็นพ่อเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบัน จะเป็นผู้อัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ไปประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำในแม่น้ำป่าสัก บริเวณท่าน้ำหน้าวัดโบสถ์ชนะมาร ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ช่วงวันสารทไทยของทุกปี สำหรับปี 2566ตรงกับวันที่ 14 ตุลาคม 2566 เวลา 09.39 น.
ดร.เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ กล่าวว่า“ประเพณีอุ้มพระดำน้ำไม่ใช่เป็นพิธีกรรมงมงายหรือเป็นเรื่องไสยศาสตร์ แต่จริงๆ แล้วก็คือการแฝงด้วยกุศโลบายของคนโบราณที่จะทำให้คนได้เกิดขวัญกำลังใจ ได้ช่วยการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นจุดรวมใจเพื่อช่วยกันพัฒนาบ้านเมือง และเป็นการที่ทำให้คนได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนามากขึ้น” เป้าหมายของการจัดงานโดยการอัญเชิญพระคู่บ้านคู่เมืองมาประกอบพิธี ถือเป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นความสุขทางใจที่ผู้คนชาวเพชรบูรณ์ได้หลอมรวมจิตใจ มีความตั้งมั่นในการร่วมกันประกอบพิธี เกิดความเกื้อกูลช่วยเหลือ เกิดความรักความสามัคคีผ่านกิจกรรมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการรำบวงสรวงพระพุทธมาหาธรรมราชาที่ประชาชนชาวเพชรบูรณ์นับพันจากทั่วทั้ง 11 อำเภอได้มารำบวงสรวงเพื่อความเป็นสิริมงคล
ในการประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ จะต้องมีเจ้าเมืองเป็นผู้ดำน้ำ ถือเป็นกุศโลบายของคนโบราณที่จะให้ช่วยกันรักษาคุณภาพของน้ำ ไม่อย่างนั้นเจ้าเมืองก็ต้องดำน้ำที่เน่าเสีย ทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมในลำน้ำได้รับการดูแลรักษา แม้แต่ ทิศการดำน้ำว่า ผู้ว่าฯ จะดำทิศใดบ้างในหกครั้ง ต้องมีการเสี่ยงทายว่าดำแต่ละครั้งเป็นทิศใด คำอธิษฐานจะมีประกอบว่าเป็นเรื่องของการคมนาคม การเศรษฐกิจ การเกษตร เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ก็จะมีอยู่ในคำเสี่ยงทายคู่กันไปด้วย เพื่อจะบอกว่าปีนี้เพชรบูรณ์จะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการสร้างความสุขทางใจสำหรับคนที่ร่วมงานทั้งการกวนกระยาสารท การทอดผ้าป่า การแข่งเรือทวนน้ำ การแสดงแสงสีเสียงตำนานการเกิดประเพณีอุ้มพระดำน้ำ สุดท้ายก็จะมีการนำเครื่องมงคลที่อยู่ในเรือที่ใช้ในการประกอบพิธีมาแจกจ่ายให้กับผู้ที่เข้าร่วมงานทำให้ผู้คนเกิดความอิ่มเอมใจ ความปลื้มปิติ มีความสุข จิตใจเบิกบาน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความสุขทางกายตามไปด้วย ดังนั้น สุขภาพที่ดีไม่ใช่แค่มีร่างกายที่แข็งแรง แต่เรื่องของจิตใจ การสร้างพลังบวก สร้างความคิดที่เป็นสุขให้ตัวเองก็เป็นเรื่องสำคัญ พอสุขภาพจิตดี สุขภาพกายก็จะตามมาเองในที่สุด
เครือข่ายสื่อ กขป.เขต.จ.เพชรบูรณ์–รายงาน