ลำพูน – พิธีเปิดโรงงานผลิตแห่งใหม่ บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด รองรับการจ้างงาน 2,000 อัตรา
ด้วยบริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดพิธีเปิดโรงงานใหม่ ณ นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน โดยมีนายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานในพิธี พร้อมกล่าวแสดงความยินดี และกล่าวเปิดงานฯ โดยมี Mr.ฮิโรคะ ซาซาฮาร่า กรรมการผู้จัดการบริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวต้อนรับฯ และกล่าวรายงาน มี Mr.นาชิดะคาซูยะเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสถาน เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, Mr.โนริโอะ นากาจิมะ ประธานบริษัท มูราตะ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, Mr.ฮิกุจิ เคอิจิ กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่, Mr.จุนนิชิโระ คุโรดะ ประธาน องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(JETRO) สำนักงานกรุงเทพ คณะผู้บริหารฯ หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ พนักงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแสดงความยินดี และร่วมพิธีเปิดเป็นจำนวนมาก
จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ประธานในพิธีฯ พร้อมด้วยกรรมการผู้จัดการบริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด และคณะผู้บริหาร ได้ร่วมกดปุ่ม อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเปิดป้ายแพ อย่างยิ่งใหญ่ ถือเป็นการเปิดโรงงานผลิตแห่งใหม่ บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จํากัด ฝั่งตะวันตกเฟส 1 อย่างเป็นทางการ อาคารโรงงานผลิตแห่งใหม่นี้จะใช้ผลิตตัวเก็บประจุแบบเซรามิก หลายชั้น(Multilayer Ceramic Capacitors) เป็นผลิตภัณฑ์ระดับเรือธงของมูราตะ และครองส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกสูงถึง 40 เปอร์เซนต์ พร้อมกันนี้บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด มีแผนจะจ้างงานประมาณ 2,000 อัตราในอนาคตอันใกล้นี้
เมื่ออาคารโรงงานผลิตใหม่นี้แล้วเสร็จ จะเสริมให้มูราตะมีฐานการผลิตคาปาซิเตอร์ในต่างประเทศ4แห่ง(นครอู๋ซี สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศสิงคโปร์ และ ประเทศไทย) และอีกสองแห่งในประเทศญี่ปุ่น(นครฟูกูอิ และ นครอิซูโมะ) ทั้งนี้ มูราตะ ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างองค์กรที่จะสามารถตอบสนองต่อการเติบโตทั้งระยะกลางถึงระยะยาวในความต้องการตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้น โดยมุ่งมั่นที่จะขยายห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้การส่งมอบมีความเสถียรและต่อเนื่องด้วยการให้มีการผลิตในหลากหลายแห่ง
และในปัจจุบันด้วยความแพร่หลายของสมาร์ทโฟนที่ใช้เทคโนโลยี 5 จี และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ย่อส่วน เช่น อุปกรณ์สวมใส่ ส่งผลให้มีความต้องการในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ย่อส่วนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งความหนาแน่นของวงจรอิเล็กทรอนิกส์ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้นจึงตอบโจทย์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สวมใส่ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในสมาร์ทโฟนระดับไฮเอ็นด์สามารถติดตั้งคาปาซิเตอร์ชนิดนี้ได้มากถึง 1,000-1,200 ตัว เป็นการแสดงให้เห็นถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นในเทคโนโลยีการย่อส่วนและขีดความสามารถ ดังนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นนี้ในระยะกลางและระยะยาว มูราตะ จึงได้ขยายกำลังการผลิตตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้นเพิ่มขึ้นอีกปีละ 10 เปอร์เซนต์เพื่อตอบสนองต่อการขยายตัวในวงการอิเล็กทรอนิกส์
โดยข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับอาคารโรงงานผลิตแห่งใหม่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง2ชั้นเหนือพื้นดินโดยมีพื้นที่โครงการทั้งหมด 80,950 ตารางเมตร พื้นที่อาคาร 35,088 ตารางเมตร สามารถรองรับการผลิตตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้น ใช้งบลงทุนประมาณ 12,000 ล้านเยน หรือ ประมาณ 2,900 ล้านบาท (เฉพาะตัวอาคาร)
นายแทน ต่อมสังข์ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน รายงาน