จากผืนป่าสู่มหานที บังเกิดมีตำนานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2566

6 กันยายน 2566 ที่ หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วย ดร.เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ ร่วมแถลงข่าวงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำจังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี 2566 โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ สื่อมวลชน ประชาชน เข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าว พร้อมกันนี้ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ดำเนินการถ่ายทอดเสียงการแถลงข่าวให้ประชาชนได้รับฟังด้วย

สำหรับงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำจังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี 2566 ได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 19 ตุลาคม 2566 ณ บริเวณหอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย วัดไตรภูมิ วัดโบสถ์ชนะมาร และพุทธอุทยานเพชบุระ จัดขึ้นเพื่อสืบสานประเพณีอันดีงามของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีกำหนดการที่สำคัญประกอบด้วย วันที่ 11 ตุลาคม 2566 กำหนดจัดพิธีรำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา เวลา 18.00 . ณ พุทธอุทยานเพชบุระ จำนวน 2,566 คน วันที่ 12 ตุลาคม 2566 ได้กำหนดจัดพิธีบวงสรวง เวลา 09.09 . ณ วัดไตรภูมิ และพิธีอัญเชิญองค์พระฯแห่รอบเมืองเพชรบูรณ์ เวลา 17.00 . วันที่ 13 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้กำหนดจัดกิจกรรมการแสดงดนตรีเทิดพระเกียรติ ณ เวทีกลาง และในวันที่ 14 ตุลาคม 2566 เป็นพิธีอัญเชิญองค์พระพุทธมหาธรรมราชา ทวนน้ำจากท่าน้ำวัดไตรภูมิ ไปประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำที่ท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร ในเวลา 10.39 . โดยในปีนี้ใช้โขนหัวเรือ เหมวาริน ในการประกอบพิธี ซึ่งเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ มีหัวเป็นเหม คือ หงส์ผสมราชสีห์ ลำตัวเป็นจรเข้ หางเป็นปลา นับว่าเป็นสัตว์ที่มีส่วนประกอบของสัตว์ชั้นสูงที่ปกติอาศัยอยู่ทั้งในน้ำ บนบก และในอากาศ โขนหัวเรือเรืออัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาไปประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ จะมีโขนหัวเรือและหาง 3 ชุดด้วยกัน สลับตามผลเสี่ยงทายในวันแถลงข่าว คือ กาญจนาคา กุญชรวารี เหมวาริน

สำหรับผู้ร่วมอัญเชิญองค์พระพุทธมหาธรรมราชา ประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ณ ท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร ประกอบด้วย เจ้าเมือง นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายเวียง พล.. ประพัฒน์ พบสุวรรณ ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 1 ฝ่ายวัง นายสุเมธ ธีรนิติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ฝ่ายคลัง นายบุญชัย กิตติธราทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ เขต 3 ฝ่ายนา ดร.สมชาย เผือกตระกูลชัย ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดเพชรบูรณ์ เทวดา ดร.ไท พานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 1 เทวดา นายวิเศษ ปิ่นพิทักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเพชรพิทยาคมเทวดา นายประทาน หาดยาว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพชรบูรณ์ และผู้ลั่นฆ้อง นายโกวิท โลเกศเสถียร นายกเทศมนตรีตำบลสว่างวัฒนา

ประเพณีอุ้มพระดำน้ำมีตำนานที่ถูกเล่าขานมานานเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ออกหาปลาในแม่น้ำป่าสัก แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น โดยกระแสน้ำในบริเวณวังมะขามแฟบ มีพรายน้ำผุดขึ้นมาทีละน้อยจนแลดูคล้ายน้ำเดือด จากนั้นกลายเป็นวังวนดูดเอาองค์พระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ทำให้ชาวประมงต้องลงไปอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ แต่ในปีถัดมาตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 วันประเพณีสารทไทย พระพุทธรูปดังกล่าวหายไป ชาวบ้านต่างพากันระงมหา สุดท้ายไปพบพระพุทธรูปกลางแม่น้ำป่าสัก บริเวณที่พบพระพุทธรูปองค์นี้ในครั้งแรกกำลังอยู่ในอาการดำผุดดำว่าย จึงได้ร่วมกันอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ อีกครั้งหนึ่ง พร้อมร่วมกันถวายนามว่า พระพุทธมหาธรรมราชาหลังจากนั้นต่อมาในวันสารทไทย หรือวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 เจ้าเมืองเพชรบูรณ์จะทำพิธีอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ลงประกอบพิธีดำน้ำเป็นประจำทุกๆปี โดยเชื่อว่าจะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ไพร่ฟ้าประชาชนมีความสุข บ้านเมืองปราศจากจากโรคระบาดคุกคาม จนกลายมาเป็นประเพณีอุ้มพระดำน้ำอันยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed