เพชรบูรณ์-กรมทางหลวง ฟังเสียงประชาชน ครั้งที่ 2 ปรับปรุงถนน ช่วง อ.หล่มเก่า-อ.เมืองเลยขยาย 4 ช่องจราจร รองรับการจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

วันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่ห้องประชุมโรงเรียนเมืองราดวิทยาคม อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ กรมทางหลวงได้จัดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 21 สาย อ.หล่มเก่า-เลย เพื่อนำเสนอสรุปผลการพิจารณารูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม พร้อมทั้งเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน สำหรับนำมาพิจารณาออกแบบรายละเอียดถนนโครงการให้มีประสิทธิภาพต่อไป โดยได้รับเกียรติจาก นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุม และมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม

การประชุมในครั้งนี้ ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอแนวคิดเบื้องต้นการพัฒนาโครงการ โดยมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้ สำหรับพื้นที่ศึกษาโครงการตามแนวทางหลวงหมายเลข 21 อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ – อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย แบ่งพื้นที่ศึกษาออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 มีจุดเริ่มต้นประมาณ กม. 293+820 และจุดสิ้นสุดประมาณ กม. 354+200 ระยะทาง 60.380 กิโลเมตร ช่วงที่ 2 มีจุดเริ่มต้นประมาณ กม. 380+125 และจุดสิ้นสุดประมาณ กม. 405+650 ระยะทาง 25.525 กิโลเมตร รวมทั้ง 2 ช่วงมีระยะทางประมาณ 85.905 กิโลเมตร โดยแนวเส้นทางโครงการครอบคลุมพื้นที่ศึกษาโครงการใน 2 จังหวัด 4 อำเภอ 10 ตำบล ประกอบด้วย จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอหล่มเก่า มี 1 ตำบล ได้แก่ ตำบลนาซำ จังหวัดเลย อำเภอด่านซ้าย มี 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลโพนสูง ตำบลด่านซ้าย ตำบลอิปุ่ม ตำบลโป่ง และตำบลโคกงาม อำเภอภูเรือ มี 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลสานตม ตำบลร่องจิก อำเภอเมืองเลย มี 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลน้ำหมานและตำบลเสี้ยว

สำหรับรูปแบบถนนโครงการ ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้พิจารณาสภาพภูมิประเทศและสภาพพื้นที่ของทางหลวงในปัจจุบัน พบว่า สภาพพื้นที่มีความแตกต่างกัน เช่น บางช่วงผ่านเขตชุมชน บางช่วงผ่านภูเขา เป็นต้น ดังนั้น จึงนำเสนอรูปแบบทางหลวงสำหรับคัดเลือกรูปแบบที่เหมาะให้สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศและสภาพชุมชน ดังนี้
รูปแบบที่ 1 ทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางถมดินและปลูกหญ้า (Raised Median) รูปแบบที่ 2 ทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบกดเป็นร่อง (Depressed Median) รูปแบบที่ 3 ทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบทาสีตีเส้น (Painted Strip Median) รูปแบบที่ 4 ทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแท่งคอนกรีต (Barrier Median) รูปแบบที่ 5 ทางหลวง 4 ช่องจราจร แยกคันทางต่างระดับ รูปแบบที่ 6 ทางหลวง 10 ช่องจราจร (กรณีก่อสร้างเต็มเขตทาง) สรุปผลการคัดเลือกรูปแบบทางที่เหมาะสม ดังนี้
1. ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบ รูปแบบรูปตัดทางที่เหมาะสม ได้แก่ รูปแบบที่ 1 ทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางถมดินและปลูกหญ้า (Raised Median) จำนวน 4 ช่องจราจร (ทิศทางละ 2 ช่องจราจร)
2. ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ภูเขา รูปแบบรูปตัดทางที่เหมาะสม ได้แก่ รูปแบบที่ 4 ทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแท่งคอนกรีต (Barrier Median) จำนวน 4 ช่องจราจร (ทิศทางละ 2 ช่องจราจร)
3. ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ย่านชุมชนตามไหล่เขา รูปแบบรูปตัดทางที่เหมาะสม คือ รูปแบบที่ 5 ทางหลวง 4 ช่องจราจรแยกคันทางต่างระดับ จำนวน 4 ช่องจราจร (ทิศทางละ 2 ช่องจราจร)
ส่วนรูปแบบจุดตัดทางแยก ที่ปรึกษาดำเนินการสำรวจสภาพพื้นที่และทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อออกแบบรายละเอียดทาถภงแยก โดยคำนึงถึงโครงการคมนาคมขนส่งต่างๆ ที่อยู่บนทางหลวงหมายเลข 21 ทั้งในปัจจุบันและอนาคต สำหรับจุดตัดทางแยกบนทางหลวงหมายเลข 21 มี 2 ตำแหน่ง ได้แก่ จุดตัดบริเวณแยกโป่งชี และบริเวณแยกโคกงาม

โดยที่ปรึกษาพิจารณาเสนอรูปแบบทางแยกเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณจุดตัด ดังนี้
1.บริเวณแยกโป่งชี (ทางหลวงหมายเลข 21 กม.322+000) เป็นจุดตัดทางหลวงหมายเลข 21 กับทางหลวงหมายเลข 2014 มีทางแยกตัดกับทางหลวงหมายเลข 2014 (ไปอำเภอด่านซ้าย) ปัจจุบันเป็นสามแยก ไม่มีสัญญาณไฟจราจร โดยจะออกแบบเป็นการปรับปรุงทางแยก มีสัญญาณไฟจราจรมีช่องจราจรผ่านตลอด ในทางหลวงหมายเลข 21 จากอำเภอภูเรือไปจังหวัดเพชรบูรณ์
2.บริเวณแยกโคกงาม (ทางหลวงหมายเลข 21 กม.346+000) เป็นจัดตัดทางหลวงหมายเลข 21 กับทางหลวงหมายเลข 2013 มีทางแยกตัดกับทางหลวงหมายเลข 2013 (ไปอำเภอด่านซ้าย) ปัจจุบันเป็นสามแยกสัญญาณไฟจราจรสำหรับช่องจราจรเลี้ยวขวา และช่องจราจรตรงไปเข้าอำเภอด่านซ้ายโดยมีทิศทางช่องจราจรซ้ายผ่านตลอดจากอำเภอด่านซ้ายไปอำเภอภูเรือ และทิศทางเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด โดยจะออกแบบเป็นการปรับปรุงทางแยกสัญญาณไฟจราจร สำหรับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมา ที่ปรึกษาได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ สำรวจและเก็บตัวอย่างด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาประกอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ IEE โดยมีประเด็นที่ศึกษาครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดลอมทางชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งจะนำไปศึกษาต่อในขั้นรายละเอียด (EIA) เพื่อเตรียมกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการ พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โดยมีกำหนดจัดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 ในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน 2566 และกำหนดจัดประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) ในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาในทุกด้านให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.ทล21-หล่มเก่า-เลย.com 2.แฟนเพจเฟซบุ๊ก :ภ ทล21-หล่มเก่า-เลย และ 3.Line Official : ทล21-หล่มเก่า-เลย (@497lrvkz)

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed