สช. จับมือภาคีเครือข่าย เดินหน้าขับเคลื่อนงานสุขภาพพระสงฆ์เชื่อม”ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่2″

คณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ โดยนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานฝ่ายคฤหัสถ์ นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพ และผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดตั้งศูนย์พุทธวิธีดูแลพระสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยระยะท้าย
ณ วัดป่าโนนสะอาด อำเภอโชคชัย จ.นครราชสีมา การลงพื้นที่และประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2566 มีเป้าหมายเพื่อทำให้ “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” ซึ่งคณะกรรมการมหาเถรสมาคม เพิ่งมีมติรับทราบและมีมติให้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 การดูแลพระสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยระยะท้าย จึงเป็นเรื่องคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ และภาคีเครือข่ายสำคัญที่จะส่งเสริมเป้าหมายดังกล่าวโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของการบริการสุขภาพของชุมชนและสังคม ผ่านงานกิจการคณะสงฆ์ที่เผื่อแผ่ความเมตตาให้กับสังคม

พระราชวชิราลังการ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา (ธรรมยุต) ได้กล่าวปฏิสันถารผู้เข้าร่วมประชุมว่า การที่คนเรามีความทุกข์มากเนื่องจากคนเราไม่ยอมรับความเป็นจริง การดูแลทั้งสุขภาพและจิตจึงควรไปด้วยกัน กำลังใจทั้งของญาติและผู้ป่วยเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทำให้คนอยู่ต่อไปได้ การจัดตั้งศูนย์พุทธวิธีดูแลพระสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด อำเภอโชคชัย จ.นครราชสีมา เป็นกิจกรรมที่สำคัญ ถ้าสามารถทำขยายต่อไปได้ก็จะเป็นประโยชน์ ศาสนาพุทธมีต้นทุนในเรื่องนี้อยู่มาก เราจะทำอย่างไรที่จะเอาสิ่งที่พุทธศาสนามีอยู่ไปใช้ประโยชน์ต่อทั้งพระและประชาชน พระมีความรู้มีประสบการณ์หลายอย่างน่าจะเอาความรู้เหล่านี้ไปทำให้เกิดบุญเกิดกุศลต่อไป

พระอธิการแสนปราชญ์ ปัญญาคโม ประธานศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด กล่าวว่า ศูนย์การตายดีของชาวพุทธนั้นมีอยู่ เป็นรูปธรรมแล้ว ผู้ป่วยที่รอวันตายนั้นสามารถยกระดับจิตสู่ฌาญได้จริง เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท ดังคำกล่าวของพระพุทธเจ้าได้กล่าวไว้ก่อนท่านปรินิพานว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจง (ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น) ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฝ่ายคฤหัสถ์ กล่าวว่า ที่มาของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาตินั้นเกิดจากความห่วงใยในสุขภาพของพระสงฆ์ และการให้บริการสุขภาพพระสงฆ์ที่ยังเข้าไม่ถึงพระสงฆ์อย่างแท้จริง จึงได้มีการนำข้อห่วงใยดังกล่าวไปกราบเรียนท่านพระเดชพระคุณพระพรหมบัณฑิต ท่านได้ให้หลักคิด หลักการสำคัญ คือ ใช้ “ทางธรรม นำทางโลก” ซึ่งเป็นที่มาของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 ภายใต้ความเห็นชอบของคณะสงฆ์ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนน้อมนำไปปฏิบัติจนเกิดรูปธรรมต่างๆ ตามมา อาทิเช่น การขึ้นทะเบียนพระสงฆ์เพื่อให้เข้าถึงสิทธิบริการสุขภาพ มีการพัฒนาพระคิลานุปัฏฐากเพื่อดูแลสุขภาพพระสงฆ์ด้วยกันเอง เกิดวัดต้นแบบในการดูแลสุขภาพให้กับฆรวาส ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์นี้เป็นกรอบที่ทำให้เกิดการดูแลสุขภาพตั้งแต่เกิดจนกระทั้งถึงวาระสุดท้าย ปัจจุบันได้มีการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 และจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 แล้ว

ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์นั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ มหาเถรสมาคม และเสริมงานของวัดประชารัฐสร้างสุข ศูนย์พุทธวิธีดูแลพระสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด อำเภอโชคชัย จ.นครราชสีมา นี้มาดูงานในวันนี้ เป็นงานที่หน่วยงานที่ดูแลเรื่องระบบบริการสุขภาพในระดับชาติมีความประสงค์จะให้เกิดขึ้น คือ การตายดีในระยะสุดท้ายของชีวิต ซึ่งต้องอาศัยความเมตตาของพระสงฆ์ที่จะเมตตาต่อชุมชนด้วย

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตัวอย่างศูนย์พุทธวิธีดูแลพระสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด อำเภอโชคชัย จ.นครราชสีมา เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ วัดและคณะสงฆ์ต่างเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา เพราะเป็นศูนย์กลางของสังคมและชุมชน ในด้านการให้บริการสุขภาพนั้นประเทศไทยยังขาดระบบบริการสุขภาพในระยะกลางและระยะสุดท้าย

การฟื้นฟูผู้ป่วยกับระบบที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งต้นทุนที่สังคมไทยเรามีอยู่ก็คือ วัด ถ้ามีการสำรวจวัดที่มีพร้อมว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ในการออกมาตรฐานของหน่วยให้บริการ สปสช.ทำหน้าที่สนับสนุนชุดสิทธิประโยชน์ในการให้บริการ สสส. ทำหน้าที่ในการสนับสนุนกระบวนการพัฒนาศักยภาพ สช.ทำหน้าที่ในประสานความร่วมมือเชิงนโยบาย ถ้าหน่วยงานร่วมมือกันประเทศไทยก็จะมีระบบการดูแลทั้งด้านสุขภาพและจิตใจ

นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 9 กล่าวว่า มีการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ในกลุ่มจังหวัดเขตพื้นที่ 9 โดยขยายออกไปทุกจังหวัดโดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน มีเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัดเป็นประธานคณะทำงาน มีการกำหนดกิจกรรมดำเนินการ 6 ด้าน โดยพระและฆราวาสร่วมกันพัฒนา 6 ด้าน คือ การพัฒนาสิ่งแวดล้อมในวัดให้น่าอยู่ พระสงฆ์และฆราวาสปฏิบัติ 5 อ. (อาหาร ออกกำลังกาย อนามัยสิ่งแวดล้อม และยกเลิกอบายมุข) มีการดูแลสุขภาพระสงฆ์ทุกมิติ มีการตรวจสิทธิหลักประกันสุขภาพพระสงฆ์ จัดถวายความรู้ให้พระสงฆ์เป็นพระ อสว. และจัดทำข้อมูลพระสงฆ์ให้ถูกต้อง

โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ มีหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดตั้งศูนย์พุทธวิธีดูแลพระสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยระยะท้าย อาทิ ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม, คณะสงฆ์จังหวัดนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 9, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา, คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 9 และเครือข่ายสังฆะเพื่อสังคม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.โทร. 02-8329141

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed