ข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์ วันที่ 23 พฤษภาคม 2566

 

จังหวัดเพชรบูรณ์ เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566 ขอเกษตรกรวางแผนการเพาะปลูก หรือปลูกพืชใช้น้ำน้อย

18 พฤษภาคม 2566 ที่ห้องประชุมถมอรัตน์ อาคาร 2 ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานประชุมเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566 โดยมีนางสาวอุไรรัตน์ คำชื่นวงศ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วย ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพชรบูรณ์ หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบูรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ได้มีการติดตามการดำเนินงานตามมาตรการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2566 ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในส่วนของชลประทานจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำภายใต้นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการบริหารน้ำในอ่างเก็บน้ำควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการน้ำและเพียงพอต่อความต้องการ มีการเตรียมหาแหล่งน้ำสำรองในช่วงหน้าแล้ง วางแผนการจัดสรรน้ำในช่วงเดือน พฤษภาคม กรกฎาคม 2566 โดยจัดสรรตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ และมีแผนการเก็บกักน้ำไว้ในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อสำรองไว้กรณีฝนทิ้งช่วง โดยในส่วนของสำนักงานประมงจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ภัยแล้งกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ และให้คำแนะนำทางด้านวิชาการ เรื่องการปรับลดขนาดการผลิต การงดเว้นเลี้ยงสัตว์น้ำ และการเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำที่จะเกิดขึ้นในช่วงหน้าแล้ง

นอกจากนี้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบูรณ์ได้มีการแจ้งเตือนเกษตรกร ว่าจะมีฝนทิ้งช่วงกลางเดือนมิถุนายน กรกฎาคม 2566 และทางกรมชลประทานต้องสำรองน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคทำให้น้ำอาจไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร ขอให้เกษตรกรวางแผนการเพาะปลูก เพราะอาจจะทำให้พืชที่เพาะปลูกเกิดการเสียหายหรือขาดทุนได้ และขอให้เกษตรกร ติดตามสถานการณ์ การแจ้งเตือนจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด พิจารณาปรับเปลี่ยนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย และให้เริ่มต้นปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย เมื่อพบว่าฝนตกอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

เผยแพร่โดย : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์

เพชรบูรณ์ ไอเดียสุดเจ๋ง สีย้อมธรรมชาติจากน้ำมะขาม นวัตกรรมจากวัสดุเหลือใช้

เพชรบูรณ์ ไอเดียสุดเจ๋ง ชาวบ้านนำวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติ สร้างนวัตกรรมใหม่จากมะขามสู่สีย้อมผ้าไหม เพิ่มมูลค่าสินค้า และสร้างความปลอดภัยต่อช่างทอ ช่างย้อม และผู้บริโภค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้าน หมู่ 8 บ้านวังร่อง ต.สักหลง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ไอเดียสุดเจ๋ง นำวัสดุเหลือใช้ จากมะขามที่ผ่านการแปรรูป ทั้ง เปลือก เมล็ด และเส้นใยรกมะขาม มาสร้างนวัตกรรมใหม่ สู่สีย้อมผ้าไหม ผ้าฝ้าย และเส้นใยจากธรรมชาติ ให้มีสีสันที่สวยงาม กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสีย้อมน้ำมะขาม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้า และ สร้างความปลอดภัยต่อช่างทอ ช่างย้อม และผู้บริโภคอีกด้วย

นางหนูเบง พาหา อายุ 59 ปี ประธานกลุ่มทอผ้าลายโบราณวังรักวังร่อง หมู่ 8 บ้านวังร่อง ต.สักหลง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงแรก ทางกลุ่มฯมีการใช้สีเคมี มาเป็นส่วนผสมหลัก ในการย้อมผ้าไหม ผ้าฝ้าย และเส้นใยธรรมชาติ ก่อนนำไปทอเป็นผืนและสร้างลวดลายต่างๆ เพื่อนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ จนกระทั่งผ่านมาระยะหนึ่ง เริ่มสังเกตตัวเองและสมาชิกกลุ่มฯ พบความผิดปกติต่อสุขภาพร่างกาย มีอาการลิ้นชาและผลข้างเคียงจากสีเคมี

ต่อมา ทางด้าน สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.เพชรบูรณ์ ได้เข้ามาส่งเสริมเรื่องการใช้ประโยชน์จากพืชประจำจังหวัด ซึ่งทางกลุ่มเล็งเห็นว่า พืชมะขาม ทั้งมะขามหวานและมะขามเปรี้ยว มีอยู่อย่างแพร่หลายในชุมชน และในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงเกิดไอเดีย สร้างนวัตกรรมใหม่ โดยนำเอาวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการแปรรูปมะขาม มีทั้ง เปลือก เมล็ด และเส้นใยรกมะขาม ซึ่งวัสดุเหล่านี้ สามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในกระบวนการย้อมสี แทนสีเคมีเดิม โดยหากเป็นเมล็ดมะขาม ก็จะนำมาคั่วให้เปลือกกะเทาะ แล้วก็นำไปต้มในน้ำร้อนราวครึ่งชั่วโมง ก็จะได้น้ำสกัดจากเมล็ดมะขาม หรือในส่วนของเปลือกและเส้นใยรกมะขาม ก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน โดยนำไปต้มน้ำร้อน ราว 1 .. ก็จะได้น้ำสกัดจากเปลือกและรกมะขามเช่นเดียวกัน

จากนั้น นำเส้นไหมมาจุ่มย้อมด้วยสีน้ำมะขามจากธรรมชาติ โดยใช้เวลาย้อมประมาณ 1 .. เพื่อให้เส้นใยดูดซับน้ำมะขามจนอิ่มสี ก่อนนำไปล้างน้ำสะอาด และนำไปผึ่งลมให้หมาด จากนั้นนำไปสู่ขั้นตอนการฟิกสี เพื่อความคงทน ก่อนนำไปใช้ทอเป็นผืนผ้า ต่อไป

นางหนูเบง พาหา อายุ 59 ปี กล่าวต่อว่า นอกจากสีจากมะขามแล้วนั้น ยังมีการใช้วัสดุจากธรรมชาติ ที่หาได้ง่ายในชุมชน เช่น ใบมะม่วง ใบดอกแก้ว ใบสบู่เลือด คลั่ง โคลน ฝักคูณ เปลือกมะพร้าว ฯลฯ เพื่อนำมาสร้างสีสันที่หลากหลาย เมื่อนำไปถักทอและขึ้นลวดลายแล้วนั้น ก็มีความสวยงาม และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

สำหรับท่านใด ที่สนใจ ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยธรรมชาติ ไร้สารเคมี และมีเอกลักษณะเฉพาะตัวของสีย้อมน้ำมะขาม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ นางหนูเบง พาหา อายุ 59 ปี ประธานกลุ่มทอผ้าลายโบราณวังรักวังร่อง หมู่ 8 บ้านวังร่อง ต.สักหลง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ โทร. 0868121605

สอบถาม นางหนูเบง พาหา อายุ 59 ปี เล่าว่า มะขามเป็นพืชประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติ เวลาผ่านการแปรรูปเอาเนื้อไปใช้ แล้วก็จะเหลือเมล็ด เปลือก ก็ถูกทิ้ง จึงมองว่าน่าจะนำสิ่งเหล่านี้มาสร้างประโยชน์ได้ ประกอบกับทางพัฒนาชุมชนมาให้ความรู้จากพืชอัตลักษณ์ท้องถิ่น จึงนำมะขามมาใช้ประโยชน์กับการทอผ้า ยิ่งเราได้รับพระราชทานลายผ้า จึงนำมาปรับใช้ สร้างมูลค่าและสะท้อนเรื่องเล่าจากพืชเศรษฐกิจ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อช่างทอ ช่างย้อม และลูกค้า ทำให้มีสุขภาพที่ดี ไม่มีสารเคมีตกค้าง

ด้าน นายวัชระ ธรรมปัญญาสกุล พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ เผยว่า เราค้นพบนวัตกรรมตัวใหม่ ในการใช้สีธรรมชาติมาย้อมผ้า เพื่อนึกถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเพิ่มมูลค่า เพิ่มรายได้มากขึ้น โดยเน้นหนักการใช้สีธรรมชาติ ซึ่งจังหวัดเพชรบูรณ์เรา ได้นำเสนอผ้าไหม ย้อมสีจากเปลือกมะขาม ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งมีจุดเด่น หลักๆคือความปลอดภัยต่อผู้สวมใส่ และสีจากมะขาม ก็ไม่เหมือนจากสีทั่วไป เมื่อนำมาย้อมกับผ้าไหม สีของผ้าจะแวววาว เห็นลายเด่นชัด และมีเอกลักษณะเฉพาะตัว

สคทช.ลงพื้นที่รับฟังข้อมูลการแก้ไขปัญหาที่ดินอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ นำข้อมูลไปจัดทำมาตรการ แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ

ที่ห้องประชุมเมืองราด ชั้น 5 อาคาร 2 ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ นายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พร้อมคณะ เข้ารับฟังความคิดเห็น ปัญหาอุปสรรค และข้อมูลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ตามโครงการศึกษาเพื่อจัดทำมาตรการ และแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ โดยมีนายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบูรณ์ ป่าไม้จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ ธนารักษ์พื้นที่เพชรบูรณ์ และ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมให้ข้อมูลการดำเนินงาน

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ได้ดำเนินโครงการศึกษาเพื่อจัดทำมาตรการ และแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ โดยมีเป้าหมายลดจำนวนการบุกรุกที่ดินของรัฐ ร้อยละ 5 ในช่วงปี พ.. 2567-2570 เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเป็นธรรม โดยมีเป้าหมายลงพื้นที่รับฟังการดำเนินงานในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดกาฬสินธุ์ และ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ มีระยะเวลาในการดำเนินงานระหว่าง 1 กุมภาพันธ์ – 29 สิงหาคม 2566 เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุ ปัจจัย สถานการณ์บุกรุกที่ดินของรัฐของประเทศไทยในปัจจุบัน ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐ เพื่อจัดทำพัฒนามาตรการและแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ เพื่อออกแบบและพัฒนาหลักเกณฑ์ตัวชี้วัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ เพื่อศึกษาแนวทางการปรับปรุง มาตรการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ และเพื่อศึกษา แนวทางการปรับปรุง มาตรการขั้นตอนและวิธีการดำเนินงานอ่านภาพถ่ายทางอากาศ

สำหรับปัญหาที่ดินอำเภอเขาค้อเป็นข้อพิพาทระหว่างราษฎรกับรัฐยืดเยื้อมายาวนาน ปัจจุบันคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เห็นชอบในหลักการให้กรมป่าไม้ดำเนินการเพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่กองทัพภาคที่ 3 ส่งคืนกรมป่าไม้ ท้องที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และให้กรมธนารักษ์ไปดำเนินการตามกฎหมายที่ราชพัสดุและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการครอบครองทำประโยชน์ที่ดินบนเขาค้อ ซึ่งในวันนี้ทาง สคทช. ได้มารับฟังในประเด็น สาเหตุ ปัจจัย และสถานการณ์การบุกรุก ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ดินของอำเภอเขาค้อ พร้อมมารับฟังสภาพปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้ง การโต้แย้งหรือข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน สภาพปัญหา และอุปสรรคการดำเนินงานของการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำข้อมูลไปจัดทำแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ

เผยแพร่โดย : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์

ชาวบ้านลูบปาก อึ่งฝนแรก มีเท่าไรก็ไม่พอขาย พร้อมนำไปทำเมนูเด็ด ต้มยำอึ่งอาหารสไตด์พื้นบ้านตามฤดูกาล

วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงาน หลังจากในหลายพื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนัก ต้อนรับเข้าสู้ฤดูฝนอย่างเป็นทาง ซึ่งนอกจากจะช่วยคลายร้อนจากสภาพอากาศที่อบอ้าว และส่งผลดีแก่พื้นที่ทางการเกษตร ไร่ นา สวน แล้วนั้น ยังถือว่าเป็นช่วงนาทีทองของชาวบ้าน ในพื้นที่บ้านวังไทรทอง ต.ซับเปิบ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งหลังจากมีฝนหนักตกครั้งแรก ก็ต่างพากันจัดเตรียม อุปกรณ์ ออกหาจับ อึ่ง ที่ออกมาเล่นน้ำ และส่งเสียงร้องหาคู่ผสมพันธ์กันตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก จนทำให้ชาวบ้านที่นี่ มีรายได้จากการจับอึ่ง ขายเป็นกอบเป็นกำ และยังนำไปปรุงอาหาร เป็นเมนูเด็ดตามฤดูกาล นั่งล้อมวงรับประทานในครัวเรือน อีกทางหนึ่งด้วย

จากการสอบถาม นายบุญจันทร์ ขวัญพรม อายุ 56ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 189 หมู่7 บ้านวังไทรทอง ต.ซับเปิบ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ เล่าให้ฟังว่า ในทุกปีหลังจากฝนแรก ที่ตกลงมาอย่างหนัก จนมีน้ำท่วมขังตามท้องทุ่งนาและตามแหล่งน้ำในธรรมชาติ ชาวบ้านจะรีบพากันจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ลักษณะเป็นบ่วงตาข่าย ต่อด้ามไม้ยาวพอเหมาะ เพื่อใช้สำหรับจับอึ่ง นำมาทำเป็นอาหารรับประทานในครัวเรือน ช่วยลดรายจ่าย และส่วนหนึ่ง จะนำมาแบ่งขายในชุมชน และตามท้องตลาด เพื่อสร้างรายได้ ซึ่งแต่ละคน จะสามารถจับอึ่งได้มากน้อยต่างกันไปตามความสามารถ ส่วนตนเองจับได้มากถึง 10 กิโลกรัม และมีบางคนสามารถจับได้มากสุดถึงกว่า 20 กิโลกรัม ทำให้มีรายได้เฉลี่ยครั้งละกว่า 500 – 2,000 บาทเลยทีเดียว เพราะว่าปีหนึ่งมีครั้งเดียว แต่ถึงแม้ราคาซื้อขายอึ่ง จะมีราคาดี สร้างรายได้อย่างงาม แต่เนื่องจากเป็นอาหารตามฤดูกาล ทำให้ในแต่ละปี จะสามารถจับอึ่งได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของท้องตลาด

ส่วน นายสุเทพ เบียร์ดี นายอำเภอวังโป่ง เล่าว่า ปีนี้ฝนพึ่งตกแรง เมื่อคืนนี้ตกลงมาอย่างหนักเป็นครั้งแรก จนน้ำท่วมขังเต็มท้องไร่ ท้องนา ทำให้ชาวบ้านดีใจสุดขีด จะได้ลงทำไร่ปลูกข้าวโพด และทำให้ชาวบ้านได้ออกไปหาจับอึ่งกันอย่างมากมาย ตนจึงขอแบ่งซื้อกับชาวบ้านมาทำกิน ส่วนมากเป็น อึ่งโกรก ตัวที่มีไข่ ขายกิโลกรัมละ 150-180 บาท ส่วนอึ่งรวมชาวบ้านก็จะ ขายกิโลกรัมละ 120 บาท เนื่องจากตนเป็นคนชอบทานอึ่งเพราะปีหนึ่งมีครั้งเดียวจึงนำอึ่งมาประอาหารทำอาหารในเมนูยอดเด็ด เช่น นำอึ่งสดๆมาต้มยำใส่ใบมะขามอ่อน ถือว่าเป็นเมนูชอบอร่อยมาก หรือ จะนำไปถนอมอาหาร ด้วยวิธีการหมักเกลือแล้วไปตากแดด เพื่อเก็บไว้รับประทานนานๆ ก็ได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed