ข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์ วันที่ 15 เมษายน 2566
เกิดไฟป่า วนอุทยานเขารัง จังหวัดเพชรบูรณ์ เร่งสกัดไม่ให้ลุกลามออกนอกพื้นที่
ได้เกิดไฟป่าลุกไหม้ ในพื้นที่ วนอุทยานเขารัง อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ไฟได้ลุกลามตามแนวเขาอย่างต่อเนื่องและขยายเป็นวงกว้าง ล่าสุดวันที่ 7 เมษายน 2566 เวลา 11.00 น. ยังคงไม่สามารถควบคุมไฟป่าได้ เจ้าหน้าที่ทำได้เพียง ระงับไฟไม่ให้ลุกลามออกนอกพื้นที่ ไฟที่อยู่บริเวณภูเขาสูงยังไม่สามารถเข้าไปดับได้ โดยได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่า และเร่งประเมินสถานการณ์ เพื่อให้เพลิงสงบโดยเร็ว
จากการสอบถาม นายชัยณรงค์ คำโฮง นักวิชาการป่าไม้ เปิดเผยว่า ในวันนี้ พบจุด hot spot ใน วนอุทยานเขารัง มากกว่า 10 จุด การเข้าดับเพลิงในพื้นที่ มีเจ้าหน้าที่จาก วนอุทยานเขารัง วนอุทยานดงเจริญ และ รถดับเพลิง จากองค์การบริหารส่วนตำบล ในพื้นที่ใกล้เคียง มาช่วยระงับไฟป่า แต่การดับเพลิงนั้นมีปัญหาอุปสรรค เจ้าหน้าที่ได้ระงับไฟ ไม่ให้ลุกลามออกนอกพื้นที่ และ เฝ้าระวังคอยดับไฟที่ลุกลามมาจนถึงถนน แต่ยังไม่สามารถเข้าไปดับด้านในที่เป็นภูเขาสูงชันได้ เพราะต้องประเมินสถานการณ์ และ คำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ จึงทำได้เพียงนำรถดับเพลิงและเจ้าหน้าที่ เข้าดับไฟในพื้นที่ที่สามารถดับได้ ซึ่งในส่วนของพื้นที่ความเสียหายในเบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินได้ต้องรอให้ไฟดับเสียก่อน
สำหรับในวันที่7 เมษายน 2566 จังหวัดเพชรบูรณ์ มีการรายงานข้อมูล hot spot ที่พบในพื้นที่จำนวน 185 จุด แยกเป็น ป่าอนุรักษ์ จำนวน 137 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 35 จุด พื้นที่เกษตร จำนวน 5 จุด เขต สปก. จำนวน 5 จุด และ ชุมชนและอื่นๆ จำนวน 3 จุด โดยสถานการณ์ ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ มีค่า 70 มคก./ลบ.ม.
กกต.เพชรบูรณ์อบรมให้ความรู้แก่กรรมการประจำเขตและ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
ที่หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการปฏิรูปการเมืองสุจริตบนพื้นฐานของการเลือกตั้ง กิจกรรมอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยมี นายสุวิทย์ ศรีวงษา ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 6 เขต และผู้สนับสนุนผู้สมัคร เข้าร่วมรับฟัง
นายสุวิทย์ ศรีวงษา ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมรับฟังประกอบ ด้วยคณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 6 เขตเลือกตั้ง และผู้สนับสนุนผู้สมัครจำนวน 181 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ วิธีปฏิบัติ ข้อห้ามและความผิด หรือการกระทำที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการฝ่าฝืนกฎหมายของผู้สมัคร หรือผู้เกี่ยวข้อง ทำให้การหาเสียงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายปราศจากการใส่ร้ายป้ายสีซึ่งกันและกัน และเพื่อสร้างการยอมรับเรื่องการ รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รู้รักสามัคคี การรักษาความเป็นมิตร ก่อนและหลังการเลือกตั้ง แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง อันจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับของประชาชน
ทั้งนี้จังหวัดเพชรบูรณ์ แบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 6 เขต มีหน่วยเลือกตั้ง 1,654 หน่วย มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนทั้งสิ้น 787,986 คน เป็น ชาย 382,608 คน และเป็นหญิง 405,378 คน มีผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 63 ราย แบ่งเป็น เขตเลือกตั้งที่ 1 จำนวน 11 ราย เขตเลือกตั้งที่ 2 จำนวน 11 ราย เขตเลือกตั้งที่ 3 จำนวน 10 ราย เขตเลือกตั้งที่ 4 จำนวน 11 ราย เขตเลือกตั้งที่ 5 จำนวน 8 ราย และเขตเลือกตั้งที่ 6 จำนวน 12 ราย
ผู้ว่าฯ เพชรบูรณ์เร่งแก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่ไหลในเขตอำเภอเมืองเพชรบูรณ์
ตามที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาเพชรบูรณ์ ว่าเกิดปัญหาน้ำประปาไม่ไหล มีสีขุ่น และไหลเป็นบางเวลา มาเป็นเวลานาน จึงแจ้งให้การประปาส่วนภูมิภาค สาขาเพชรบูรณ์ ดำเนินการแก้ไขแล้วแต่ไม่ดีขึ้นแต่อย่างใด ประกอบกับสื่อมวลชนได้รายงานข่าวปัญหาดังกล่าวผ่านสื่อแขนงต่างๆ ทำให้จังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมว่า ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
ที่ห้องประชุมมหาธาตุ อาคาร 1 ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วย นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเพชรบูรณ์ ชลประทานจังหวัดเพชรบูรณ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพชรบูรณ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมติดตาม แก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่ไหลในเขตพื้นที่อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง และอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา ที่เป็นแหล่งน้ำดิบ ใช้ผลิตน้ำประปามีปริมาณเพียงพอถึงเดือนสิงหาคม เพียงพอและสามารถสนับสนุน ให้การประปาส่วนภูมิภาค สาขาจังหวัดเพชรบูรณ์ ใช้ผลิตน้ำประปาเพื่อให้ประชาชนใช้อุปโภคบริโภค โดยที่ประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามแก้ไขปัญหาในทันที
จากนั้น นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา ติดตามการผัน ดิบจากอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา ลงมาสู่บึงหนองนารี เพื่อให้การประปาส่วนภูมิภาค สาขาเพชรบูรณ์ ใช้ผลิตน้ำประปาให้กับประชาชน โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า จากปัญหาน้ำประปาไม่ไหล ในพื้นที่รับผิดชอบของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาเพชรบูรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้สั่งการให้ทาง การประปาส่วนภูมิภาค สาขาเพชรบูรณ์ ไปสำรวจจุดที่ประชาชน ขาดแคลนน้ำ และให้ นำน้ำประปาไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ทันทีภายในวันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ยังได้มอบหมาย ให้การ ประปาส่วนภูมิภาค สาขาเพชรบูรณ์ เพิ่มแรงดันในพื้นที่ ที่แรงดันน้ำไปไม่ถึง โดยการติดเครื่องปั้มน้ำสูบขึ้นไป คาดว่าจะเสร็จภายใน 1-2 วันนี้ นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ยังมอบหมายให้ชลประทานจังหวัดเพชรบูรณ์ ผันน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา จำนวน 500,000 ลูกบาศก์เมตร ลงมาสู่บึงหนองนารี เพื่อให้การประปาส่วนภูมิภาค สาขาเพชรบูรณ์ ใช้ผลิตน้ำประปา ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2566 เป็นต้นไป ให้ประชาชนมั่นใจว่าจะไม่ขาดแคลนน้ำประปา หากพื้นที่ใดได้รับผลกระทบ น้ำประปาไม่ไหล สามารถแจ้ง นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ แจ้งได้ที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะมีรถไปแจกจ่ายน้ำประปาไปให้กับทุกคนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจังหวัดเพชรบูรณ์จะไม่ขาดแคลนน้ำ เรามีแหล่งน้ำดิบใช้ผลิตน้ำประปาเพียงพอในช่วงหน้าแล้งนี้
เพชรบูรณ์ ลงนามร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่ง ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)
ที่ห้องประชุมมหาธาตุ ชั้น 3 อาคาร 1 ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วย พระศรีพัชโรดม เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ (ม) พระครูโสภณวัชรคุณ เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ (ธ) นายชัยสิทธิ์ ชัยสัมฤทธิ์ผล ปลัดจังหวัดเพชรบูรณ์ นายพิชิฏฏ์ ชิดไพฑูรย์ ท้องถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์ ดร.สัมฤทธิ์ ไวเปีย ศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์ ผศ.ดร.ปรีชา ศรีเรืองฤทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่ง ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่ง ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบูรณ์จัดขึ้น โดยมีจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย บวร (บ้าน วัด โรงเรียน/สถาบันการศึกษา) ร่วมลงนาม เพื่อยกระดับปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่ง ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงในปีต่อๆ ไป ทุกภาคีเครือข่ายจะต้องให้ความสำคัญ ร่วมกันรณรงค์ และปฏิบัติตามภารกิจหน้าที่อย่างเคร่งครัด ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง (ชิงเก็บ ลดเผา) การนำไปใช้ประโยชน์ของวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตร วัชพืช ใบไม้ กิ่งไม้ ตั้งแต่ช่วงกลางฤดูหนาวจน เข้าสู่ฤดูฝนถัดไปอย่างจริงจังต่อเนื่อง
โดยจังหวัดเพชรบูรณ์ มีหน้าที่สนับสนุนข้อมูลสถานการณ์และแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหา พร้อมสนับสนุน ส่งเสริม และ/หรืออำนวยความสะดวกภาคีเครือข่าย บวร (บ้าน วัด โรงเรียน/สถาบันการศึกษา) และติดตามสถานการณ์ ประเมินผล รายงานผลการดำเนินงานด้านการป้องกันแก้ไขปัญหา โดยในส่วนของภาคีเครือข่าย บวร ติดตามสถานการณ์ปัญหาการเผาในที่โล่ง ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ขนาดเล็ก รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์ และแนวทางป้องกัน สนับสนุน ส่งเสริม และ/หรืออำนวยความสะดวกในการป้องกันแก้ไขปัญหาของจังหวัดเพชรบูรณ์ ตามบทบาทหน้าที่และพื้นที่ความรับผิดชอบ งดเผาในที่โล่งในพื้นที่รับผิดชอบ พร้อมทั้งกำกับดูแลบุคลากรในความรับผิดชอบ ตามแนวทางของจังหวัดเพชรบูรณ์ ตลอดจน เฝ้าระวังและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย จากปัญหาการเผาในที่โล่ง ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้มีผลใช้บังคับเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ทำบันทึกข้อตกลง
เผยแพร่โดย : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์