ทำไมไหว้เช็งเม้งเดือนเมษา เดือนที่อากาศร้อนตับแตก
ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าฤดูร้อนของไทยปี 2566 เริ่มต้นประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนอุณหภูมิระหว่าง 35-39 องศาเซลเซียส และวันที่อากาศร้อนจัดอุณหภูมิอาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส อากาศร้อนเสียขนาดนี้ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรอยู่ในอาคารในห้องที่แอร์เย็นฉ่ำ หรือที่มีร่มเงาบังแดด แต่ช่วงที่อากาศร้อนโหดๆ นั้น ทำไมคนจีนถึงไป “เช็งเม้ง” กัน
เมื่อพูดถึงเช็งเม้ง คนส่วนใหญ่มักรู้จักว่าเป็นชื่อเทศกาลไหว้บรรพบุรุษของคนจีน แต่เทศกาลนี้ยังมีความหมายอื่นอีก
เช็งเม้ง เป็นชื่อสภาพอากาศปักษ์ย่อย 1 ใน 24 ปักษ์ของจีน คนจีนแบ่งสภาพอากาศตลอดปีเป็น 24 ปักษ์ โดย เช็งเม้งเป็นปักษ์ที่ 5 ซึ่งอากาศสดชื่น (请) ทิวทัศน์แจ่มใส (明) จึงได้ชื่อว่า เช็งเม้ง (请明-แจ่มใส) ซึ่งหมายถึง อากาศที่แจ่มใสงดงาม ในยุคโบราณเช็งเม้งเป็นช่วงเวลาสำคัญหนึ่งทางการเกษตร จนมีสำนวนว่า ปลูกต้นไม้ปลูกป่า อย่าให้เลยเช็งเม้ง, ปักษ์เช็งเม้ง สั่งหญิงเลี้ยงไหม จัดห้องไหม…
เทศกาลนี้เป็นเทศกาลใหญ่ของเดือนสาม (จีน) ตามปฏิทินเกษตรของจีนถือเป็นช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ แต่หลักอุตุนิยมวิทยาสากลถือเป็นต้นฤดูใบไม้ผลิ ต้นไม้กำลังเติบโต ดอกไม้บานสะพรั่ง อากาศสดชื่น ท้องฟ้าแจ่มใส ธรรมชาติงดงาม
จึงไม่แปลกหรอกที่เมืองจีนจะกำหนดให้ช่วงเวลาเช่นนี้ ไปปัดกวาดสุสานเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
เท่านั้นยังไม่พอ อากาศดีขนาดนี้ ไหว้เสร็จก็จะต้องออกเที่ยวชมธรรมชาติ ที่เรียกว่า “เที่ยวสันต์” ที่ออกเที่ยวกันตั้งแต่ช่วงก่อน-หลังเช็งเม้ง 10 วัน เป็นกิจกรรมที่มีมาตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. 1503-1822) และที่นิยมของประชาชนทั่วไป จนจางเจ๋อตวนศิลปินผู้มีชื่อในยุคนั้น นำบรรยากาศดังกล่าวมาวาดเป็นภาพเขียน “清明上河圖 -ชมแม่น้ำยามเช็งเม้ง” ที่แสดงให้เห็นความคึกคักในการเที่ยววสันต์ ในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง
แต่เมื่อคนจีนออกสู่โพ้นทะเล บางประเทศที่พวกเขาไปตั้งรกรากใหม่ มีสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างไปจากเมืองจีน เช่น ประเทศไทย การไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลนี้ จึงต้องอดทนกับอากาศที่ร้อนตับแตกด้วยเหตุนี้