ทำไมต้องเป็นเมืองเกินร้อย ชื่อจังหวัด “ร้อยเอ็ด” มาจากไหน
จังหวัด ร้อยเอ็ด มาจากนามเดิมว่า เมืองร้อยเอ็ด หมายถึง เมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้าและเส้นทางคมนาคมทางบกทางน้ำกว้างไกลไปทุกทิศทาง เหมือนมีประตูช่องทางออกไปติดต่อบ้านเมืองต่าง ๆ ได้ร้อยเอ็ดทิศ
ชื่อเมืองนี้ ได้จากชื่อในตำนานอุรังคธาตุ (คำบอกเล่าความเป็นมาของพระธาตุพนม จ.นครพนม) ว่าเมืองร้อยเอ็ดประตู เพราะเป็นเมืองใหญ่มีบริวารถึง 101 เมือง กับประตูเมือง 101 ประตู
ต่อมาได้มีข้อโต้แย้งจากผู้รู้บางท่านว่า “เมืองนี้มีเพียงสิบเอ็ดประตูเท่านั้น เพราะการเขียนตัวเลขสิบเอ็ดของคนอีสานและคนลาวสมัยก่อนนั้นเขียนว่า 101 ซึ่งต่อมาคนไม่เข้าใจการเขียนการอ่านของคนอีสาน จึงอ่านผิดไปเป็นหนึ่งร้อยเอ็ด หรือร้อยเอ็ด ด้วยเหตุนี้เมืองที่ควรจะชื่อว่าเมืองสิบเอ็ดประตูจึงกลายเป็นเมืองร้อยเอ็ดประตูไป”
แต่ข้อโต้แย้งต้องตกไป เพราะต้นฉบับตัวเขียนบนใบลานตำนานอุรังคธาตุไม่ได้เขียนตัวเลข แต่เขียนเป็นตัวอักษร กรมศิลปากรบอกไว้ในเอกสารชื่อบ้านนามเมือง…ร้อยเอ็ด (พิมพ์ พ.ศ. 2552) ว่า
“จากการตรวจสอบของนักภาษาโบราณ กรมศิลปากรไม่พบว่าในตำนานอุรังคธาตุมีการเขียนชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตูด้วยตัวเลข หากแต่เขียนเป็นตัวอักษรทั้งสิ้น”
แล้วอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “ถึงแม้ว่าร่องรอยของประตูเมืองร้อยเอ็ดโบราณจากภาพถ่ายทางอากาศเมื่อ พ.ศ. 2496 จะปรากฏว่า มีช่องทางเข้าออก 11 ประตูก็ตาม แต่จำนวน 11 ประตูก็มิได้เป็นจำนวนที่มากเกินปกติจนเป็นเอกลักษณ์ของเมืองได้ เพราะเมืองโบราณศรีเทพซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยและมีการขยายเมืองเช่นเดียวกันนั้น ก็มีการเพิ่มจำนวนช่องทางเข้าออกเป็น 11 ช่องทางตามการขยายของตัวเมืองเช่นกัน”
ร้อยเอ็ดจะตรงกับคำว่า “ทวารวดี” มีคำอธิบายของกรมศิลปากร (เอกสารประกอบนิทรรศการฯ เรื่องชื่อบ้านนามเมือง…ร้อยเอ็ด ผลิตเผยแพร่โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2552) เรื่องความหมายของเมืองร้อยเอ็ดประตู ไว้น่าเชื่อถือ มีความว่า
“ในตำนานอุรังคธาตุ กล่าวว่าเมืองนี้มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น 101 เมือง การใช้จำนวนประตูเมืองมากมายนั้นเป็นความหมายแสดงถึงอำนาจที่แผ่ขยายกว้างไกลออกไปทุกทิศทาง โดยคติดังกล่าวนี้น่าจะมีที่มาจากอินเดีย ดังเช่นชื่อทวารวดี เมื่อแปลตามรูปศัพท์แปลว่าเมืองที่มีประตูเป็นกำแพง (ทวาร-ประตู และ วติ-รั้ว, กำแพง) และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตู ก็จะให้ความหมายถึงการเป็นเมืองศูนย์กลางที่มีอำนาจจครอบคลุมออกไปทุกสารทิศเช่นเดียวกัน
ชื่อเมือง ‘ร้อยเอ็ดประตู’ เป็นมงคลนามที่ผู้ตั้งต้องการให้หมายถึงว่าเป็น ‘เมืองที่มีอำนาจแผ่ขยายกว้างไกลออกไปทุกทิศทาง’ ซึ่งคงไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีประตูจริง ๆ ถึง 101 ประตู”
รับทราบที่มาที่ไปชื่อจังหวัดแล้ว ทีนี้มาดูแลนด์มาร์คสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของจังหวัดร้อยเอ็ดกัน
มาร้อยเอ็ด ต้องไปบึงพลาญชัย ถือเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด ที่ใครมาเยือนเมืองร้อยเอ็ดจะต้องแวะ ตั้งอยู่บริเวณใจกลางเมือง ต.ในเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งบึงพลาญชัย เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 2 แสนตารางเมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2469 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดคนที่ 3 พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) นำชาวบ้าน 4 หมื่นคน ขุดบึง เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ในปัจจุบันมีการใช้เป็นสถานที่จัดงานต่างๆ ของจังหวัด และเป็นสวนสาธารณะ ภายในบึงมีเกาะกลางน้ำ เต็มไปสิ่งปลูกสร้างมากมาย ทั้งศาลเจ้าพ่อหลักเมือง, พระพุทธรูปปางลีลา, ภูพลาญชัย, สวนสุขภาพ, สนามเด็กเล่น, น้ำพุดนตรี, พานรัฐธรรมนูญ และนาฬิกาดอกไม้ ชาวร้อยเอ็ดนิยมมาออกกำลังกาย นั่งพักผ่อน ให้อาหารปลา จัดเป็นแลนมาร์คที่ไม่ควรพลาดเลยล่ะ
เด่นสุดในย่าน ก็หอโหวด 101 นี่ล่ะ แลนมาร์คแห่งใหม่ใจกลางเมืองร้อยเอ็ด หอคอยรูปโหวด เครื่องดนตรีพื้นเมืองประจำจังหวัดร้อยเอ็ด อยู่ใกล้กันกับบึงพลาญชัย เดินเที่ยวบึงเสร็จก็มาต่อที่นี่ได้เลย ตั้งอยู่ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด โดยหอมีความสูง 101 เมตร เทียบเท่าอาคาร 35 ชั้น ถูกออกแบบโดยสถาปนิกและวิศวกร จากกรมโยธิการและผังเมือง ซึ่งใช้งบประมาณมากถึง 341 ล้านบาท จนกลายเป็นหอชมเมืองที่มีความโดดเด่น รูปร่างแปลกตา ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเลยล่ะ สำหรับพื้นที่ใช้สอย จะแบ่งตามชั้นต่างๆ อาทิ พระพุทธมิ่งเมืองมงคล (พระพุทธรูปประจำจังหวัด), พื้นกระจก Sky Walk, พื้นที่ชมวิว 360 องศา, พิพิธภัณฑ์เมือง, ร้านอาหาร, ร้านขายของที่ระลึก เป็นต้น ใครอยากชมวิวเมืองร้อยเอ็ด แนะนำให้ขึ้นไปชม บอกเลยว่า วิวสวยอลังการ ยิ่งตอนกลางคืน จะงดงามเป็นพิเศษ
วัดกลางมิ่งเมือง วัดเก่าแก่กลางเมืองร้อยเอ็ด เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่บนถนนเจริญพานิช ต.ในเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด สันนิษฐานว่า สร้างก่อนตั้งเมืองร้อยเอ็ด ในการปกครองของขอม มีพระอุโบสถหลังเก่า สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นศิลปะแบบล้านช้าง ผนังโบสถ์มีภาพวาดพุทธประวัติสวยงาม ภายในประดิษฐานพระประธาน พระพุทธมิ่งเมืองมงคล ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดร้อยเอ็ด นอกจากโบสถ์แล้ว ยังมีศาลาการเปรียญ ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2511, วิหาร เป็นอาคารคอนกรีต และกุฏิสงฆ์ อาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2526 นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเยี่ยมชมโบสถ์ ทำบุญ ไหว้พระมิ่งเมืองมงคล เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
อยากมีรูปแบบฮิปๆ ต้องไปแชะภาพที่สตรีท อาร์ท ร้อยเอ็ด ซึ่งตั้งอยู่บนถนนคูเมืองทางทิศตะวันตก ต.ในเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด นำเสนอกราฟฟิตี้บนกำแพงและอาคารตลอดแนวถนน เป็นลวดลายที่มีคาแร็คเตอร์ต่างๆ, เท็กซ์ และอื่นๆ โดยให้ศิลปินกราฟฟิตี้จากทั่วประเทศมาสร้างสรรรค์ผลงาน จากกำแพงสีขาว สู่ผลงานหลากสีสัน ใครที่ชอบถ่ายรูปแนวสตรีท บอกเลยว่าต้องมา เพราะสามารถถ่ายได้เป็นชั่วโมงเลยล่ะ แต่งตัวแนวๆ มา แล้วกดชัตเตอร์ อัพไอจีอวดโซเชียลแบบเท่ๆ กันได้เลย
มาต่อกันที่ เจดีย์มหามงคลบัว ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน (พระธรรมวิสุทธิมงคล) แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี เป็นเจดีย์สีทองเด่นสง่ากลางสวน มีสระน้ำล้อมรอบ ในพื้นที่ 40 ไร่ ตั้งอยู่ใน ต.หนองแวง อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด โดยหลวงตามหาบัวอนุญาตให้สร้าง ตลอดจนดูการถมที่ วางศิลาฤกษ์ และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุด้วยตัวท่านเอง ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ มีวัตถุประสงค์ให้เป็นสถานที่เผยแพร่ธรรมมะและปฏิบัติธรรม ตัวเจดีย์แบ่งออกเป็น 4 ชั้น คือ ชั้น 1 ห้องอนุรักษ์เพลงพื้นบ้าน, ชั้น 2 ห้องสมุดและห้องฟังเทศน์, ชั้น 3 รูปเหมือนหลวงตาและที่นั่งภาวนา และชั้น 4 ประดิษฐานพระประธาน รูปเหมือนหลวงตามหาบัว หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ และหลวงปู่หล้า สามารถไปเยี่ยมชมความสวยงามของเจดีย์ และสักการะหลวงตากันได้ ควรแต่งกายสุภาพ
วัดป่ากุง หรือ วัดประชาคมวนาราม ตั้งอยู่ใน ต.ศรีสมเด็จ อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด สร้างโดยหลวงปู่ศรี มหาวีโร จุดเด่นของวัดแห่งนี้ คือ เจดีย์หินวัดป่ากุง เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ ทำจากหินทรายธรรมชาติ มีภาพแกะสลักพุทธประวัติและชาดก ยอดเจดีย์ทำจากทองคำแท้หนัก 101 ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ สร้างเลียนแบบเจดีย์โบโรบูดูร์ บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ที่คนไทยรู้จักกันในนาม บรมพุทโธ ในทุกๆ ปี จะมีการจัดพิธีรำลึกถึงพระคุณของหลวงปู่ศรีในวันคล้ายวันเกิด ระหว่างวันที่ 1-3 พฤษภาคม ของทุกปี มีกิจกรรมตักบาตร สวดมนต์ และตั้งโรงทาน ชาวร้อยเอ็ดและพุทธศาสนิกชนที่นับถือหลวงปู่ต่างก็หลั่งไหลเข้ามาร่วมงานอย่างไม่ขาดสาย อีกทั้งบริเวณรอบๆ เจดีย์ยังเต็มไปด้วยต้นไม้สีเขียว และสวนสวย เหมาะแก่การมาเที่ยว ไหว้พระ และถ่ายภาพสุดๆ
ปรางค์กู่ หรือ ปราสาทหนองกู่ ตั้งอยู่ใน ต.มะอึ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด เป็นปราสาทขอม สร้างจากศิลาแลง ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พุทธศตวรรษที่ 18 ด้วยสถาปัตยกรรมแบบบาปวน ในลัทธิลัทธิไศวนิกาย ประกอบไปด้วยปรางค์ประธาน โคปุระ และบรรณาลัย มีสระน้ำกรุด้วยศิลาแลง ทั้งหมดถูกล้อมรอบด้วยกำแพง ที่นี่เคยได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากร มีการพบทับหลังหินทรายสลักที่ปรางค์ประธาน สลักรูปคนขี่หลังช้าง (พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ) ปรางค์กู่จัดเป็นโบราณสถานในจังหวัดร้อยเอ็ด ที่น่าไปเยี่ยมชม และเนื่องจากปรางกู่ อยู่ในพื้นที่วัดศรีรัตนาราม จึงสามารถไหว้พระทำบุญกันได้ เรียกได้ว่า เที่ยวแบบคอมโบ ได้สองต่อเลยนะ
วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม วัดสวยใน ต.ผาน้ำย้อย อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 บนเนื้อที่ 2,500 ไร่ เป็นที่ประดิษฐพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่ ที่มีชื่อว่า พระมหาเจดีย์ศรีชัยมงคล มีลักษณะเป็นพระเจดีย์สีขาว มีลวดลายสีทอง ด้วยสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ภาคกลางผสานภาคอีสาน สร้างความสวยงามตระการตาแก่ผู้พบเห็น ตัวเจดีย์มี 6 ชั้น ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (ชั้น 6) มีพิพิธภัณฑ์วิปัสสนากรรมฐานของหลวงปู่ศรี และประดิษฐานรูปเหมือนของพระเกจิอาจารย์ในอดีต 101 องค์ สำหรับเจดีย์นั้น ดำเนินการก่อสร้างโดยหลวงปู่ศรี มหาวีโร ศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางฝึกอบรมการบำเพ็ญปฏิบัติสมถวิปัสสนากรรมฐานแก่พระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชน ที่นี่อยู่ห่างจากตัวเมือง ราวๆ 90 กิโลเมตร ขับรถประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที มาเที่ยวร้อยเอ็ดทั้งที อย่าลืมแวะไปเที่ยวชมพระเจดีย์ และกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุกันด้วยล่ะ ยิ่งไปช่วงค่ำ ดูพระอาทิตย์บนพระเจดีย์ ก็ได้ความโรแมนติกไปอีกแบบนะ