พิษณุโลก-จังหวัดพิษณุโลกลดฝุ่น PM 2.5 รณรงค์ลดการเผาในพื้นที่เกษตร ผุดโครงการฟางทองคำ

นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า จังหวัดพิษณุโลก ได้มียกระดับการแก้ปัญหาหมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาหมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 ของจังหวัด เกิดจากการเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม มาตรการป้องกันแก้ไขปัญหา เริ่มต้น ตั้งแต่เดือนมกราคม ประกาศควบคุมการเผา ( 15 มกราคม-15 กุมภาพันธ์ ) ช่วงที่ 2 ประกาศงดการเผา 60 วัน (16กุมภาพันธ์-16เมษายน 2566) ทั้งสองมาตรการยังไม่สามารถลดปริมาณค่าฝุ่น PM ให้ลดลงจนอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ทางจังหวัดพิษณุโลกจึงมีมาตรการเพิ่มเติม โดยระดมอาสาสมัครเดินเท้าเข้าป่าเพื่อดับไฟ, ปฏิญาณตนงดเผาในวันมาฆบูชา และจัดเฮลิคอปเตอร์ของศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ขึ้นบินตรวจสอบโปรยฉีดพ่นน้ำเพื่อดับไฟไหม้ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง

รวมทั้งได้ร่วมมือกับภาคเอกชน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมรณรงค์ลดเผาวัชพืชในพื้นที่การเกษตร เช่น ฟางขาว กากอ้อย เข้าสู่กระบวนการแปรรูปอัดแท่งเพื่อจำหน่าย ขจัดวัชพืชแทนการเผา สร้างเครือข่ายธุรกิจค้าฟางข้าว ยกระดับเป็นฟางทองคำ ในพื้นที่บางระกำโมเดลหมู่ 10 ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก โดย จ.พิษณุโลก มีพื้นที่การปลูกข้าวในพื้นที่บางระกำโมเดล ประมาณ 160,000 ไร่ต่อปี พื้นที่ปลูกข้าว 1 ไร่ มีปริมาณฟางข้าวและตอซัง โดยเฉลี่ยไร่ละ 650 กิโลกรัม ซึ่งมีมูลค่าไร่ละ 600 บาท จากพื้นที่การปลูกข้าวทั้งหมดจะมีฟางข้าวมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท นับได้ว่าปริมาณฟางข้าวและตอซังข้าวมีมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับตอซังพืชชนิดอื่น

ที่ผ่านมา เกษตรกรมักใช้วิธีเผาตอซัง ทำให้เป็นปัญหาหมอกควัน และมลพิษทางอากาศเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนมกราคม พฤษภาคม ซึ่ง จ.พิษณุโลกให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงเสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา สร้างต้นแบบในการทำการเกษตรปลอดการเผา เพื่อสนับสนุนการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ จังหวัดพิษณุโลก มีประกาศจังหวัด กำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และ pm 2.5 เป็นวาระสำคัญของจังหวัดประจำปีงบประมาณ 2566 โดยให้ทุกส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาชนทุกส่วน ต้องบูรณาการงานร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed