ข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์ วันที่ 13 มีนาคม 2566

กรมทางหลวงขยายถนน 4 ช่องจราจร อ.หล่มเก่า.เมืองเลย เปิดเวทีฟังเสียงประชาชน

วันที่13 มีนาคม 2566ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ กรมทางหลวงได้จัดการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (การประชุมใหญ่ ครั้งที่ 1) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 21 สาย อ.หล่มเก่า.เมืองเลย เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ วัตถุประสงค์ ขอบเขตขั้นตอนการศึกษา และแนวคิดการพัฒนาโครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยได้รับเกียรติจาก นายเสกสรร กลิ่นพูน นายอำเภอหล่มเก่า เป็นประธานเปิดการประชุม และมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน ภาคประชาชนและสื่อมวลชน เข้าร่วมการประชุม

ทั้งนี้ ทางหลวงหมายเลข 21 เป็นทางหลวงในแนวเหนือใต้ เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดในภาคกลางสู่จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดเลย โดยจากการศึกษาสภาพแนวทางหลวงเดิมพบว่า ทางหลวงหมายเลข 21 ช่วงอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย มีแนวเส้นทางที่คับแคบ สภาพพื้นที่ตามแนวเส้นทางเป็นพื้นที่ราบสลับภูเขา บางช่วงมีความคดเคี้ยวต่อเนื่อง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ไม่สะดวกและปลอดภัยต่อการเดินทางของผู้สัญจร

กรมทางหลวงจึงเตรียมแผนพัฒนาปรับปรุงขยายแนวเส้นทางโครงการให้มีขนาด 4 ช่องหรือมากกว่า โดยได้คำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ โครงข่ายทางหลวง และปริมาณการจราจรในอนาคต พร้อมระบบระบายน้ำ สาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องและส่วนประกอบอื่นๆ ที่จำเป็น เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ทางด้านการจราจรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนและผลกระทบต่อชุมชนบริเวณแนวเส้นทางโครงการให้น้อยที่สุด อีกทั้งแนวเส้นทางของโครงการผ่านพื้นที่อ่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กรมทางหลวง (ทล.) จึงได้ดำเนินการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท บุญปัญญา เทคโนโลยี จำกัด ร่วมกับ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท แมคโครคอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ดำเนินการศึกษาโดยมีขอบเขตงาน ประกอบด้วย ให้ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และทบทวนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เดิม ฉบับเดือนมิถุนายน พ.. 2564 ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ของการศึกษาโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางหลวงหมายเลข 203 (หล่มสักหล่มเก่าเลย) โดยปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นทางหลวงหมายเลข 21 โดยจะดำเนินการเปรียบเทียบรายละเอียดโครงการในส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงจากรายงานเดิม และสรุปประเด็นปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ที่ต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมจากที่เสนอไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเดิมให้ชัดเจนและดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนของโครงการ ตลอดจนจัดเตรียมเอกสารข้อมูลประกอบการประกวดราคาและประเมินราคาค่าก่อสร้าง โดยเริ่มศึกษาโครงการตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 – เดือนมีนาคม 2567 มีระยะเวลาการศึกษาทั้งหมด 450 วัน

ด้านนายกฤษดา ผดุงขันธ์ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ ผู้แทนกรมทางหลวง กล่าวว่าสำหรับพื้นที่ศึกษาโครงการตามแนวทางหลวงหมายเลข 21 อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย แบ่งพื้นที่ศึกษาออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 มีจุดเริ่มต้นประมาณ กม. 293+820 และจุดสิ้นสุดประมาณ กม. 354+200 ระยะทาง 60.380 กิโลเมตร ช่วงที่ 2 มีจุดเริ่มต้นประมาณ กม. 380+125 และจุดสิ้นสุดประมาณ กม. 405+650 ระยะทาง 25.525 กิโลเมตร รวมทั้ง 2 ช่วงมีระยะทางประมาณ 85.905 กิโลเมตร

โดยแนวเส้นทางโครงการครอบคลุมพื้นที่ศึกษาโครงการใน 2 จังหวัด 4 อำเภอ 10 ตำบล ประกอบด้วย จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอหล่มเก่า มี 1 ตำบล ได้แก่ ตำบลนาซำ จังหวัดเลย อำเภอด่านซ้าย มี 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลโพนสูง ตำบลด่านซ้าย ตำบลอิปุ่ม ตำบลโป่ง และตำบลโคกงาม อำเภอภูเรือ มี 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลสานตม ตำบลร่องจิก อำเภอเมืองเลย มี 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลน้ำหมาน ตำบลเสี้ยว ซึ่งภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง และที่ปรึกษาโครงการฯ จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาและออกแบบรายละเอียดของโครงการให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งภายหลังการชี้แจงรายละเอียดโครงการได้เปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (การประชุมใหญ่ ครั้งที่ 1)ได้ซักถามรายละเอียดของโครงการและเสนอแนะโครงการเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขให้มีความเหมาะสม ทั้งนี้ผู้สนใจและผู้ที่อยู่ในพื้นที่โครงการสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.ทล21-หล่มเก่าเลย.com 2.แฟนเพจเฟซบุ๊ก : ทล21-หล่มเก่าเลย และ 3.Line Official : ทล21-หล่มเก่าเลย (@497lrvkz)

คนเหนือ 17 จังหวัด ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า

วันที่10 มีนาคม 2566 ที่ โรงแรมเมอเวนพิค สุริวงศ์ เชียงใหม่ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการกล่าวนำภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบภาคเหนือ 17 จังหวัด กว่า 200 คน ร่วมประกาศเจตนารมณ์ “คนเหนือไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ในงานสัมมนาเรื่อง “คนเหนือไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”  ย้ำจุดยืน คนเหนือ จะร่วมมือกันรณรงค์ป้องกันประชาชนภาคเหนือทุกคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ให้ปลอดพ้นจากการเสพติดบุหรี่และไฟฟ้าทุกรูปแบบ

นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นประธานในการประกาศเจตนารมณ์ “คนเหนือไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ในครั้งนี้ การระดมทุกภาคส่วนของภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ 17 จังหวัด ภาคเหนือ ให้มาร่วมกันรณรงค์ป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้ากับกลุ่มเด็กและเยาวชนถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าขยายวงกว้างไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเด็กและเยาวชน

โดยมีแนวทางประกาศเจตนารมณ์ “คนเหนือไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” 5 ข้อ คือ
1.
พวกเราจะร่วมมือกันรณรงค์ป้องกันประชาชนภาคเหนือทุกคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ให้ปลอดพ้นจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ
2.
พวกเราจะร่วมกันสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัย โดยเฉพาะในโรงเรียน และสถานศึกษาทุกระดับ เพื่อป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกชนิดของเด็กและเยาวชนภาคเหนือ โดยการบังคับใช้กฎหมายการห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเคร่งครัด
3.
พวกเราจะร่วมกันสื่อสารข้อมูล เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนภาคเหนือได้รับรู้ถึงอันตรายของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า และรู้เท่าทันกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบ
4.
พวกเราจะร่วมกันสร้างกลไกขับเคลื่อนงานของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ให้เกิดการเชื่อมประสานการทำงานในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง
5.
พวกเราจะดำเนินการป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นวาระแห่งชาติ และประกาศเจตจำนงที่ชัดเจนในการสนับสนุนให้รัฐบาลคงนโยบาย และมาตรการในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed