Skip to content
ประชาชนชาวจังหวัดเพชรบูรณ์เข้ายืนยันตัวตนรับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐหลังประกาศผลการพิจารณาคุณสมบัติและให้ยืนยันตัวตนวันแรก
1 มีนาคม 2566 นายสุเมธ ธีรนิติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าตรวจเยี่ยมพร้อมพบปะพูดคุย ประชาชนชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เดินทางเข้ามายืนยันตัวตนผ่านธนาคารกรุงไทยสาขาเพชรบูรณ์ ธนาคารกรุงไทย สาขาศูนย์ราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ธนาคารออมสิน สาขาเพชรบูรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสาขาเพชรบูรณ์ หลังจากมีการประกาศผลการพิจารณาคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนรับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐผ่านเว็บไซต์ https://xn--12cm1ane3a8dcb9a6abq9eehm8a4u7e.mof.go.th/ และเปิดให้ยืนยันตัวตนเป็นวันแรก โดยมีนางรุ้งลาวัณย์ ชวนเกิดลาภ คลังจังหวัดเพชรบูรณ์ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ซึ่งในส่วนของจังหวัดเพชรบูรณ์มีผู้ลงทะเบียนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 จำนวนทั้งสิ้น 258,365 ราย เป็นลำดับที่ 16 ของประเทศ
ทั้งนี้รัฐบาลได้เปิดให้ลงทะเบียนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 เมื่อวันที่ 5 กันยายน–31 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา และในวันนี้ (1 มีนาคม 2566 )ได้มีการประกาศผลการพิจารณาคุณสมบัติ และเปิดให้มีการยืนยันตัวตน ในวันแรก ซึ่งผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ สามารถนำบัตรประชาชนเข้าไปยืนยันตัวตนผ่าน 3 หน่วยงานได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2566 เป็นต้นไปโดยไม่มีกำหนด ส่วน ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 27 สิงหาคม 2566 โดยผู้ลงทะเบียนที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติต้องดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับหมายเลขประจำตัวประชาชนเพื่อรับสิทธิสวัสดิการ และผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติที่ยืนยันตัวตนสำเร็จ ระหว่างวันที่ 1-26 มีนาคม2566จะสามารถใช้สิทธิสวัสดิการผ่านบัตรประจำตัวประชาชนได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 และในกรณีผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติที่ยืนยันตัวตนหลังวันที่ 26 มีนาคม 2566 จะได้ใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติสามารถยื่นขออุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 1 พฤษภาคม 2566 ผ่าน2ช่องทางได้แก่1.ขออุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติด้วยตนเองผ่านทางเว็บไซต์https://xn--12cm1ane3a8dcb9a6abq9eehm8a4u7e.mof.go.th/ หรือ https://welfare.mof.go.th ได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึง 23.00 น. ของทุกวัน 2. ขออุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติผ่านหน่วยงานรับลงทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทยฯ ธ.ก.ส. สำนักงานคลังจังหวัดทุกจังหวัด ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร และศาลาว่าการเมืองพัทยา ตามวันและเวลาทำการของแต่ละหน่วยงาน
เผยแพร่โดย : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์
ชาวบ้านเพชรบูรณ์ร่วมทำแนวกันไฟ เนื่องในวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า
เมื่อวันที่1มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าวังโป่ง–ชนแดน หมู่7 ต.ซับเปิบ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ นายสุเทพ เบียร์ดี นายอำเภอวังโป่ง เปิดกิจกรรมจัดทำแนวกันไฟ เนื่องในวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า โดยมี นายศุภกร อินทรประสิทธิ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าวังโป่ง – ชนแดน กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนายพัฒธพงศ์ กานดี หัวหน้าโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริบ้านวังไทรทอง พ.ต.อ.ประมุข ปิ่นปลิ้มจิตต์ ผกก.สภ.วังโป่ง นายอนันต์ กู้นาม รองนายก อบต.ซับเปิบ หน่วยป่าไม้เนินมะค่า ปศุสัตว์อำเภอ เกษตรอำเภอ ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน ร่วมกันทำแนวกันไฟตามแนวเขต พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าวังโป่ง–ชนแดน ระยะทาง 2กิโลเมตร
การจัดกิจกรรมจัดทำแนวกันไฟ เนื่องในวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๖ ไฟป่า เป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ป่าไม้ถูกทำลาย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ที่ถูกไฟป่าต้องสูญเสียไป ดังนั้น ไฟป่าจึงเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญตลอดมา นอกจากนี้ไฟป่ายังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดวิกฤตปัญหาหมอกควัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยทัศนวิสัยในการมองเห็น ชีวิต และทรัพย์สิน ของประชาชนเป็นวงกว้าง ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีอาณาเขตติดกัน
ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2524 กำหนดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมป่าไม้ (ขณะนั้น) ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาไฟป่าเป็นการเฉพาะ ซึ่งต่อมากรมป่าไม้ (ขณะนั้น) และกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกันเสนอมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างจริงจัง ดังนั้นจึงถือได้ว่า วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันสำคัญก่อกำเนิดการควบคุมไฟป่าในประเทศไทย ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่22 สิงหาคม 2543เห็นชอบและอนุมัติให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น“วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชน และเกษตรกร งดการจุดไฟเผาป่า เพื่อลดควันไฟที่เกิดจากการเผาป่า สร้างความความเข้าใจ และความตระหนักให้แก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา หน่วยราชการ องค์กรเอกชน ถึงอันตรายและผลกระทบของควันที่เกิดจากไฟป่า และเพื่อป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ จากการจุดไฟเผาป่าอีกทั้งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนหน่วยงาน เครือข่ายทุกภาคส่วน ให้เกิดความตระหนัก เฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ไฟป่า ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าวังโป่ง–ชนแดน
เดชา มลามาตย์-รายงาน
อากาศร้อน ชาวบ้านพร้อมเซียนแห เฮลงน้ำจับปลาในสระ พร้อมทำเมนูเด็ดปลาเผาและลวกจิ้ม ล้อมวงรับประทานอย่างเอร็ดอร่อย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านและเซียนแห จำนวนมากต่างจัดเตรียมอุปกรณ์จับสัตว์น้ำ เช่น แห ยอ สวิง ไปร่วมจับปลาในสระ ของนายคำ เชื้อหงส์ อายุ 95 ปี ตั้งอยู่ที่บ้านวังไทรทอง หมู่ 7 ตำบลซับเปิบ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเปิดให้ ชาวบ้านและเซียนแห ลงจับปลาที่ปล่อยไว้ในสระ เนื้อที่ราว 4 ไร่เศษ โดยผู้เข้าร่วม จะต้องเสียค่าธรรมเนียม ค่าแห ปากละ 200 บาท ค่ายกยอ 100 บาท ค่าสวิง 20 บาท เพื่อนำเงินที่ได้ ไปซื้อพันธ์ปลาต่างๆมาปล่อยไว้ดังเดิม และหมุนเวียนเปิดสระจับปลาเช่นนี้ไปทุกปี หวังสร้างแหล่งอาหารในชุมชน และยังเป็นการสร้างสีสัน ที่สนุกสนาน ลงน้ำจับปลาในช่วงอากาศร้อน
ซึ่งบรรยากาศเปิดสระจับปลาในครั้งนี้ มีชาวบ้านและเซียนแห เข้าร่วมประชันฝีมือ ไม่น้อยกว่า 60 คน แต่ละคน ก็นำอุปกรณ์หาปลาที่ถนัด ทั้งแห ยอ สวิง ลุยน้ำจับปลากันอย่างคึกคัก ซึ่งทุกคน ก็ต่างไม่ผิดหวัง สามารถจับปลากันได้ทุกคน ได้มากบ้าง น้อยบ้าง ตามความสามารถ โดยปลาที่จับได้ ก็มีทั้ง ปลาบึก ปลาช่อน ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาขาว ปลาหมอ โดยเฉพาะปลาบึก พบว่าแต่ละตัวก็มีขนาดใหญ่ น้ำหนักราว 8-10 กิโลกรัมต่อตัวเลยทีเดียว จนชาวบ้านที่มาดูการหว่านแหครั้งนี้ อดไม่ได้ ถึงกับติดต่อขอซื้อสดๆจากปากบ่อเลยทีเดียว สร้างรายได้ให้กับเซียนแห ได้อีกด้วยนอกจากนั้น ชาวบ้านบางคน ยังได้จัดเตรียมอุปกรณ์แคมป์ปิ้ง และเครื่องครัวติดรถมาด้วย เมื่อจับปลาได้จำนวนมาก ก็แบ่งปลาส่วนหนึ่ง มาทำเมนูเด็ด อาทิ ปลาเผา และ ลวกจิ้มปลาบึก ก่อนล้อมวง นั่งรับประทานกันสดๆ อย่างเอร็ดอร่อยเลยทีเดียว
เดชา มลาามาตย์-รายงาน
กองพลทหารม้าที่1 ตรวจสภาพความพร้อมรบ และตรวจสอบการฝึกเป็นหน่วยกองพันเฉพาะกิจ ประจำปี 2566
วันที่ 2 มีนาคม 2566 ที่บริเวณสนามบิน กองพลทหารม้าที่ 1 ค่ายพ่อขุนผาเมือง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ พลตรี ศุภฤกษ์ สถาพรผล ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 1 เป็นประธานในการตรวจสภาพความพร้อมรบ และตรวจสอบการฝึกเป็นหน่วยกองพันเฉพาะกิจ กองพลทหารม้าที่ 1 ประจำปี 2566 ซึ่งกำหนดให้ กรมทหารม้าที่ 3 เป็นหน่วยรับผิดชอบจัดกำลังพล และยุทโธปกรณ์ ทำการฝึก และตรวจสอบการฝึกเป็นหน่วยกองพันเฉพาะกิจ เพื่อให้ผู้บังคับหน่วย ฝ่ายอำนวยการ ตลอดจนกำลังพลที่บรรจุในหน่วยระดับกองพัน ได้มีความชำนาญ ทั้งในด้านการบังคับบัญชาอำนวยการ และการปฏิบัติในสนาม ตลอดจนมีความคุ้นเคย ในการปฏิบัติร่วมกัน เป็นหน่วยระดับกองพัน จนสามารถปฏิบัติการรบ ในสถานการณ์ทางยุทธวิธีต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อปลูกฝังให้กำลังพลของหน่วย ได้มีความรู้ ความสามารถที่เพิ่มขึ้น บรรลุตามวัตถุประสงค์การฝึกทั้งนี้ หน่วยได้ดำเนินการฝึก เตรียมการ (ในที่ตั้ง) ห้วงตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และขั้นการตรวจสอบการฝึก (นอกที่ตั้ง) ในห้วงวันที่ 1-8 มีนาคม 2566 โดยใช้พื้นที่ฝึกบริเวณ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ และอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
ราเมธ บงแก้ว-รายงาน
ตัวแทนประชาชน 4 ตำบลในอำเภอเขาค้อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เรียกร้องแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
2 มีนาคม 2566 ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ กลุ่มมวลชนชาวอำเภอเขาค้อ ประกอบด้วย กำนันผู้ใหญ่บ้านและตัวแทนชาวบ้านในเขตพื้นที่ 4 ตำบลประกอบด้วย ต.เขาค้อ ต.สะเดาะพง ต.ริมสีม่วง ต.หนองแม่นา จำนวนกว่า 500 คน นำโดยนายพิสิษฐ์พล โพธิ์ลิบ กำนันตำบลเขาค้อและประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.เขาค้อ เข้ายื่นหนังสือถึง นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ สนับสนุนให้พื้นที่ 4 ตำบลของอ.เขาค้อเป็นพื้นที่ธนารักษ์โดยการยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ในครั้งนี้ ได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพื้นที่ 4 ตำบล เช่น การก่อสร้างถนน ไฟฟ้าระบบประปา เป็นต้น, ขอสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่อำเภอเขาค้อ โดยประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ธนารักษ์ตามมติเสียงส่วนใหญ่ของราษฎรในพื้นที่ 4 ตำบล และชาวอำเภอเขาค้อทั้ง 4 ตำบล และ ขอแสดงจุดยืน และเป็นกำลังใจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินให้แก่ชาวอำเภอเขาค้อ
นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า สิ่งที่ชาวอำเภอเขาค้อมายื่นข้อเรียกร้องในวันนี้เป็นสิ่งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ดำเนินการอยู่แล้ว และได้ดำเนินการมาหลายปี เรื่องการขอพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค จะเกี่ยวข้องกับการขอใช้พื้นที่ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือส่วนราชการต่างๆ จะเข้าไปดำเนินการ จะต้องขออนุญาตกรมป่าไม้ ซึ่งอาจจะล่าช้า และติดขัด ทางจังหวัดเพชรบูรณ์จึงได้หาแนวทางแก้ไข โดยผลักดันให้ พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ธนารักษ์ เพื่อให้หลุดจากกฎหมายป่าไม้ในเบื้องต้น การดำเนินการต่างๆ ที่เป็นปัญหาอุปสรรค ก็จะกลับมาอยู่ในอำนาจของกรมธนารักษ์ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด และธนารักษ์จังหวัด จะมีอำนาจในการอนุญาต ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันเรื่องนี้อยู่ในการดูแลของรัฐบาลแล้ว และคิดว่ารัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ กว่า 10,000 คน ซึ่งเป็นปัญหามา 30-40 ปี ให้ได้รับการแก้ไข
ทั้งนี้พื้นที่ 4 ตำบลของ อ.เขาค้อ เดิมทหารได้ขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ ตามแนวยุทธศาสตร์การพัฒนาหลังจากเกิดสมรภูมิเขาค้อขึ้น และมีการจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่และที่ทำกิน ให้แก่ราษฎรอาสาสมัคร(รอส.) แต่ภายหลังที่ดินถูกซื้อขายเปลี่ยนมือโดยมีนายทุนเข้าครอบครอง กระทั่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาจับกุม ต่อมาปี 2562 กองทัพภาคที่ 3 ได้ส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่กรมป่าไม้ จนทำให้มีการจัดระเบียบการใช้ที่ดินเกิดขึ้น
เผยแพร่โดย : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์
อบต.พุทธบาท เพชรบูรณ์ จัดวันสถาปนาองค์การบริหารส่วนตำบล
วันที่ 2 มีนาคม 2566 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลพุทธบาท อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ คณะผู้บริหาร อบต.พุทธบาท หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสภา และพนักงาน พร้อมประชาชนในพื้นที่ ตำบลพุทธบาท ร่วมกันจัดงานวันสถาปนาองค์การบริหารส่วนตำบลพุทธบาท โดยมีนายสมเดช ธรรมมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพุทธบาท เป็นประธานพิธีถวายเครื่องราชสักการะพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 ถวายความเคารพ และจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย และกล่าวคำถวายราชสดุดีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 หลังจากนั้นนายสมเดช ธรรมมา นายก อ.บ.ต.กล่าวพบปะผู้นำท้องถิ่นและร่วมรับประทานอาหาร
ทั้งนี้ตามประวัติศาสตร์ในปีพ.ศ.2440(ร.ศ.116)สุขาภิบาลแห่งแรกของไทยได้รับการจัดตั้งขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครเรียกว่า “สุขาภิบาลกรุงเทพ“โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 ขึ้น โดยผู้บริหารสุขาภิบาลกรุงเทพ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่อยู่ในบังคับบัญชาของเสนาบดีกระทรวงนครบาล ตามที่ทรงทอดพระเนตรมาจากการเสด็จประพาสต่างประเทศ หลังจากนั้น 8 ปี คือในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2448 (ร.ศ.124) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะตำบลท่าฉลอมจังหวัดสมุทรสาครเป็น“สุขาภิบาล“เรียกว่า “สุขาภิบาลท่าฉลอม” ซึ่งถือว่าเป็นสุขาภิบาล “หัวเมือง” แห่งแรกของไทย ซึ่งในปัจจุบันคือ “เทศบาลนครสมุทรสาคร”
สำหรับเหตุที่การจัดตั้งสุขาภิบาลหัวเมืองล่าช้าไปมาก เพราะสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรง เล็งเห็นว่า การสุขาภิบาลซึ่งเป็นรูปแบบที่ประชาชนปกครองตนเองนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากราษฎรในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการจ่ายภาษี การร่วมกันดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชน หากบังคับให้มีขึ้นโดยที่ประชาชนไม่เห็นความจำเป็นก็จะไม่ประสบความสำเร็จการจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอมจึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจการปกครองให้แก่ประชาชนและเป็นการถือกำเนิดของการปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งแรกในประเทศไทยในส่วนของ อบต.พุทธบาทได้กำหนดให้ทุกๆวันที่ 2 มีนาคม ของทุกๆปีจะจัดกิจกรรมนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ทำบุญถวายภัตราหารถวายเครื่องราชสักการะรัชกาลที่.5เพื่อน้อมรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าให้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรก อันเป็นต้นกำเนิดขององค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบต่างๆ
อุดมศักดิ์ เหล็กคำ/สายน้ำ เณรทอง/ กัญชิศา สุขเผือก–รายงาน
วส. 921สานสัมพันธ์สื่อท้องถิ่นเพชรบูรณ์จัดโครงการสัมมนาเครือข่ายนักประชาสัมพันธ์
วันที่ 2 มีนาคม 2566 น.อ.ปฐมทัต ปรีชาฤทธิรงค์ ร.น.หน.วส.921ฯ เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งบรรยายบทบาทหน้าที่ของ วิทยุกระจายเสียง 921 ผลงานการทำงานที่ผ่านมา ของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ทั้งนี้ กองบัญชาการกองทัพไทย โดยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา โดยสถานีวิทยุกระจายเสียง 921 สำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาจัดโครงการดังกล่าวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างเครือข่ายงานด้านการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ และเพิ่มพูนความรู้สร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสถาบันหลักของชาติอีกทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลการปฏิบัติงานของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากสมาคมสื่อมวลชนแขนงต่างๆ สถานีวิทยุกระจายเสียงและผู้ปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ของส่วนราชการในพื้นจังหวัดเพชรบูรณ์จำนวน 60 คน ณ ภูเบิกน้ำรีสอร์ท ม.11 ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์
ในการสัมมนาดังกล่าวได้รับเกียรติจากวิทยากรประกอบด้วย นางแพรวพรรณ สุวรรณทวี รองผู้อำนวยการ กกต.จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้บรรยายความรู้เกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้ง เนื่องจากคาดว่าจะมีการยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ จึงอยากให้เข้าใจถึงเรื่องกฎหมายของการเลือกตั้งสำหรับบุคคลากรด้านสื่อมวลชน นายไชยยงค์ ไชยปั้น หัวหน้าแผนกรายการสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยเพชรบูรณ์ ได้แลกเปลี่ยนในเรื่องการนำเสนอข่าวที่่่่่่ถูกต้อง แม่ยำและไม่เป็นเฟคนิวส์ และนางสาวชลธิชา ภูจุ้ย ประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ร่วมแลกเปลี่ยนถ่ายทอดประสบการณ์การรับส่งข่าวสารในยุคโซเชียล จากนั้นมีการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น และคำแนะนำจากเครือข่ายสื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมสัมมนา
น.อ.ปฐมทัต ปรีชาฤทธิรงค์ ร.น.หน.วส.921ฯ กล่าวว่าสถานีวิทยุกระจายเสียง 921 สำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นหน่วยงานของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินการประชาสัมพันธ์ ปฏิบัติการจิตวิทยา และกิจการพลเรือน เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐ และประชาชนมีความ รู้รักสามัคคี จงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตลอดจนมีความเข้าใจอันดีต่อรัฐบาล ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย บุคลากรที่มีประสิทธิภาพ และ มนุษยสัมพันธ์อันดีงาม ในทุกเหตุการณ์ที่รวดเร็ว ทันเวลา พร้อมทั้งส่งเสริม สนับสนุนนโยบาย และผลประโยชน์ของชาติ ทั้งในด้าน การเมือง การทหาร เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา ตลอดจน ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และศีลธรรมอันดีงามของชาติ ปัจจุบันสถานีวิทยุกระจายเสียง 921 ได้มีหน้าที่และบทบาทในการหนุนเสริมงานด้านประชาสัมพันธ์ของสำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ในพื้นที่รับผิดชอบจังหวัดทางอีสานใต้
วิริทธิ์พล หิรัญรัตน์-รายงาน
Post Views: 215